สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์

ทนายความเชียงใหม่จะเสนอการนับระยะเวลาในการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินจากที่ดินที่มีสิทธิครอบครองแล้วมีการออกโฉนดที่ดิน จึงเกิดปัญหาว่า สามารถนับระยะเวลาที่เป็นการครอบครองที่ดินในระหว่างที่ดินเป็นสิทธิครอบครองเข้ารวมกับที่ดินที่ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินได้หรือไม่

ก่อนอื่นต้องกล่าวเสียก่อนว่า ที่ดินที่มีสิทธิครอบครองคือที่ดินอย่างไร ซึ่งท่านต้องทราบเสียก่อนว่า ที่ดินอย่างไรเป็นสิทธิครอบครอง ที่ดินอย่างไดเรียกว่า ที่ดินมีกรรมสิทธิ์ โดยที่ดินที่มีสิทธิครอบครอบคือที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เพียงแต่รัฐอนุญาตให้ถือครอบครองที่ดินเท่านั้น ที่ดินประเภทนี้มีอยู่หลากหลายชนิดด้วยกัน โดยจะไล่เรียงจากเอกสารสิทธิที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดไป คือ นส3 นส3ก สค1 ใบเยียบย่ำ ใบตราจอง ส่วนที่ดินที่รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่อนุญาตให้ครอบครองให้กระทำการเฉพาะกิจ เช่น สปก เป็นต้น

ที่ดินดังที่กล่าวมานี้ ทนายความเชียงใหม่ เรียกว่า เป็นที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง นั้นเอง ส่วนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์มีเพียงอย่างเดียวคือ นส4 หรือ โฉนดที่ดินนั้นเอง ดังนี้ ท่านก็ทราบแล้วว่า ที่ดินอย่างไรเป็นที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง ที่ดินอย่างไรมีกรรมสิทธิ์

 

ขั้นตอนต่อไป ท่านจะต้องเข้าใจต่อไปว่า การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน คือการแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาเป็นของตนเอง โดยอาศัยระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งจะได้ว่ากล่าวกันต่อไป ในเมื่อเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์จากเจ้าของเดิมมาเป็นของตนเองแล้ว อย่างนี้ที่ดินที่จะสามารถแย่งกรรมสิทธิ์ได้นั้น มีเพียงที่ดินประเภท นส4หรือโฉนดที่ดินนั้นเอง
ซึ่งระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องแย่งอย่างไรจึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินจากเจ้าของเดิมนั้น ต้องพิจารณาจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
ทนายความเชียงใหม่ขอสรุปจากมาตรา 1382 ว่าการแย่งกรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้น จะต้องใช้ระยะเวลา 10 ปี นับแต่ครอบครองที่ดินของผู้อื่นหรือเจ้าของเดิม โดยการครอบครองสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อครบกำหนด 10 ปี แล้ว ท่านสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลแสดงว่า ท่านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ต่อไป

หากว่า ที่ดินที่ท่านได้ครอบครองนั้น เป็นเพียงที่ดินที่มีสิทธิครอบครองเท่านั้น แต่ต่อมาที่ดินที่ท่านได้ครอบครองที่ดินนั้น ได้เปลี่ยนสภาพจากที่ดินที่มีสิทธิครอบครองกลายเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ โดยการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินเดิมแล้ว อย่างนี้ หากปรากฏว่า ท่านได้ครอบครองที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง มาเป็นระยะเวลา 20 ปี และได้ครอบครองที่ดินที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อีก 5 ปี
 

จะถือว่า ท่านได้ครอบครองที่ดินมาแล้วเป็นระยะเวลา 25 ปี หรือท่านได้ครอบครองที่ดินมาแล้ว 5 ปี ในปัญหานี้ ท่านสามารถศึกษาได้จากคำตัดสินของศาลหรือคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270/2554 การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่ ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี 2529 ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2533 เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง

 
 

ทนายความเชียงใหม่ขอสรุปจากคำพิพากษาดังกล่าวว่า ท่านสามารถนับระยะเวลาได้นับแต่วันที่ได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของเดิมเป็นต้นไป เพราะที่ดินที่อยู่ในระยะเวลาที่ที่ดินมีสิทธิครอบครอง ท่านไม่สามารถจะเอากรรมสิทธิ์จากเจ้าของเดิมได้ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวที่ดินไม่มีกรรมสิทธิ์อยู่นั้นเอง ฉะนั้น จึงต้องนับระยะเวลาตั้งแต่มีการออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป คำตอบ ว่าท่านจะนับระยะเวลาได้ 25 ปี หรือ 5 ปี นั้น ก็ตอบได้คำตอบจากคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นว่า ท่านได้นับระยะเวลาได้เพียง 5 ปี เท่านั้น จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
ทั้งนี้ ยังมีคำพิพากษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9882/2560 การที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 มาตั้งแต่ปี 2528 แม้ได้ขายให้ ว. ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ ว. ขายให้ผู้อื่นแล้วจำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นนั้น จึงต้องนับระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ปี 2528 หาใช่นับแต่ปี 2553 ที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาจากปี 2528 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จำเลยจึงได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางพิพาทเฉพาะเพื่อใช้เดินและเป็นทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679 - 682/2559 ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13041/2558 โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินในโครงการเป็นผู้สร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทเอง เมื่อจำเลยมิได้ปิดกั้นที่ดินพิพาท จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นที่ดินพิพาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งการที่โจทก์ไม่จัดให้มีที่กลับรถเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการที่มีที่กลับรถเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 32 เป็นการที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โจทก์ต้องกระทำการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตเช่นถนนสวนสนามเด็กเล่นให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ประกอบกับมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 เป็นกฎหมายเฉพาะบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นไปของภาระจำยอมที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับแก่ภาระจำยอมที่เกิดขึ้น และยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินก่อสร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทที่ได้กันไว้เป็นที่กลับรถอันเป็นสาธารณูปโภคประเภทถนนของโครงการ แต่ที่ดินพิพาทอยู่ภายในรั้วบ้านของจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันจะทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนความเสียหายที่จำเลยได้รับ ชอบที่จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง เนื่องจากจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มาด้วย

โดย ทนายความเชียงใหม่