สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของเจ้าหนี้ กรณีเจ้าหนี้ได้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่

 

การใช้สิทธิยึดหน่วงเป็นการใช้สิทธิในการคุ้มครองตนเองที่กฎหมายกำหนดให้กับเจ้าหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เพื่อให้คล้ายกับเจ้าหนี้มีประกันคือยึดถือตัวทรัพย์ไว้เป็นเครื่องต่อรองให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยที่ยังไม่ต้องดำเนินการในการฟ้องร้องต้อศาล แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะนำทรัพย์นั้นออกขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้หรือดำเนินการใดๆ กับตัวทรัพย์นั้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเพียงยึดถือตัวทรัพย์นั้นไว้ไม่คืนให้ลูกหนี้เท่านั้น และไม่ว่าลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์ก็ไม่อาจใช้อำนาจกรรมสิทธิ์มาติดตามเอาทรัพย์คืนได้ และไม่อาจอ้างว่าเจ้าหนี้ยึดหน่วงทรัพย์ไว้โดยละเมิด แต่การใช้สิทธิยึดหน่วงนั้นทำได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๑ “ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนด
อนึ่งบทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าการที่เข้าครอบครองนั้นเริ่มมาแต่ทำการอันใดอันหนึ่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

โดยมีหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิยึดหนาวงดังนี้ คือ
๑. จะต้องมีหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้
๒. หนี้ที่มีต้องเกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์
๓. ตัวทรัพย์ต้องอยู่ในความครอบครองยึดถือของเจ้าหนี้
๔. การครอบครองยึดถือตัวทรัพย์ของเจ้าหนี้ต้องชอบด้วยกฎหมาย
๕. ทรัพย์ที่ครอบต้องต้องเป็นของลูกหนี้หรือบุคคลภายนอก ต้องไม่ใช่ทรัพย์ของเจ้าหนี้เอง
๖. หนี้ที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์นั้นต้องถึงกำหนดชำระแล้ว

ผลของการใช้สิทธิยึดหน่วง
1. เจ้าหนี้สามารถยึดหน่วงทรัพย์ของลูกหนี้หรือบุคคลอื่นไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้
2. เจ้าหนี้ต้องดูแลทรัพย์ที่ยึดหน่วงตามฐานะของตน ไม่ต้องใช้มาตรฐานของวิญญูชน
3. เจ้าหนี้จะเอาทรัพย์ที่ยึดหน่วงไปใช้ ไปให้เช่า หรือไปทำหลักประกันโดยลูกหนี้ไม่ยินยอมไม่ได้
4. เจ้าหนี้มีสิทธิเอาดอกผลที่ได้จากทรัพย์ที่ยึดหน่วงมาจัดสรรชำระดอกเบี้ยก่อน ถ้ายังมีเหลือจึงเอามาชำระต้นเงิน
5. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเกี่ยวกับทรัพย์ที่ยึดหน่วง
6. การใช้สิทธิยึดหน่วงไม่ทำให้อายุความในมูลหนี้ที่ยึดหน่วงนั้น สะดุดหยุดลง

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2556 แม้จำเลยในฐานะผู้ให้กู้ยืมจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับ ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญากู้เงินคืนจนกว่าโจทก์จะได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558 โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12429/2558 ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์เป็นเพียงหนี้ที่นายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกจ้างที่นายจ้างครองอยู่ ทั้งค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายกับข้ออ้างเรื่องความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ส่งมอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารการทำงานของสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง เมื่อโจทก์ลาออกจากงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครองอยู่โดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวด้วยทรัพย์สินนั้น ดังนั้นจำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างและเงินทดรองจ่ายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19411/2555 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ต่อโจทก์โดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือนับแต่โจทก์ทราบว่าเอกสารสูญหายและให้จำเลยนำเอกสารชุดใหม่มาให้อันเป็นช่วงระหว่างปี 2525 และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2545 ล่วงเลย 10 ปี แล้วก็ตาม แต่จากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนและจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา เช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 241