สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เมื่อรถหายในห้างห้างต้องรับผิดชอบหรือไม่เพียงใด

            เมื่อเราไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า  ห้างจะให้บริการที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการของห้างฯ  โดยย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อน  ห้างฯ  ได้ทำการแจกบัตรเข้าและเก็บบัตรเมื่อออกจาห้างฯ  เพื่อรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการ  แต่ต่อมาห้างฯ  ได้ทำการยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกดังกล่าว  เมื่อเกิดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์หายไปจากที่จอดรถภายในห้างฯ  ใครเป็นผู้รับผิดชอบ  จึงเป็นคำถามของประชาชนโดยทั่วไป  และมีประเด็นว่า  ห้างต้องรับผิดชอบหรือไม่เพียงใด


หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


มาตรา 420  ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 880  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

            ตามหลักกฎหมายดังกล่าวทำให้เห็นว่า  ผู้ที่จงใจหรือประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายโดยผิดกฎหมาย  ผู้นั้นจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น  ตามมาตรา  420  ซึ่งขออธิบายต่อไปว่า  ห้างได้ยกเลิกบัตรเข้าออกทำให้ความสะดวกและความปลอดภัยลดลง  จากเดิมเคยทำการแจกบัตรเข้าออกเพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ  เมื่อมีการยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกย่อมทำให้เป็นการประมาททำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย  ห้างฯ  จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการหายของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของลูกค้า 

           
ยกตัวอย่างเช่น  ห้างฯ  เอ  เคยว่าจ้าง นาย ก พนักงานรักษาความปลอดภัยในการแจกบัตรเวลาลูกค้าเข้ามาใช้บริการของห้างฯ  และให้นาย ก  เก็บบัตรเมื่อลูกค้าออกจากห้างฯ  เพื่อป้องกันมิให้รถหาย  ต่อมา ห้างฯ  เอ ได้เลิกจ้างนาย ก  และไม่แจกบัตรเข้าออก  นาย บี มาใช้บริการของห้างฯ  เอ  ในระหว่างเลือกซื้อสินค้า  นาย  ซี  ได้เข้ามาลักรถยนต์ของนาย บี  ไป  ทำให้นายบี  สูญเสียรถยนต์ของตนไป  ในกรณีเช่นนี้  ถือว่า ห้างฯ เอ  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นาย บี  ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินคือ รถยนต์ของนาย บี  ห้าง ฯ  เอ  จำต้องชดใช้ราคารถยนต์ให้แก่นาย บี  เป็นต้น

 

            คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2561
การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยและรับฟังได้อีกว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรเข้าออกสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดแต่ขณะเกิดเหตุได้ยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้น ดังนั้น จึงเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยให้ลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง

            คำพิพากษาตัวเต็ม
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บน 9168 พระนครศรีอยุธยา หากส่งมอบรถกระบะไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 396,085 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 380,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

            จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

            ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันที่ 5 มกราคม 2557 (ที่ถูก วันที่ 5 มีนาคม 2557) ซึ่งเป็นวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,085 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

            จำเลยอุทธรณ์

            ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

            จำเลยฎีกา

           

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บน 9168 พระนครศรีอยุธยา จากนางสาวนุชจรี ผู้เอาประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2555 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2556 โดยโจทก์จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายหรือสูญหายกรณีรถกระบะสูญหายเป็นเงิน 380,000 ส่วนจำเลยประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคแก่ประชาชน ใช้ชื่อทางการค้าว่า ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส มีสาขาหลายแห่ง สาขานวนคร จังหวัดปทุมธานี เป็นสาขาหนึ่งของจำเลย โดยจำเลยจัดลานจอดรถไว้ให้บริการแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าและ

ใช้บริการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 เวลา 16.30 นาฬิกา นายอนุกูล น้องชายของนางสาวนุชจรี ผู้เอาประกันภัยได้ขับรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มาจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยสาขานวนคร และเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าจำเลยจนกระทั่งเวลา 17.30 นาฬิกา จึงกลับออกมาปรากฏว่ารถกระบะคันดังกล่าวสูญหายไปจากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลย นายอนุกูลจึงได้แจ้งให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยทราบ จากนั้นได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ได้ให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์มาดำเนินการตรวจสอบและได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถกระบะให้แก่ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเงิน 380,000 บาท

            ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถกระบะที่นายอนุกูล นำมาจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยจะได้จัดให้มีสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแต่บุคคลอื่นยังสามารถนำรถยนต์มาจอดได้เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ โดยไม่ต้องรับบัตรผ่านเข้าออกและไม่ต้องผ่านการสอบถามจากพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าจะมาทำธุระใด ผู้นำรถยนต์เข้ามาจอดต้องหาที่จอดเอง เก็บกุญแจและต้องดูแลรถยนต์กับทรัพย์สินภายในรถยนต์เอง การครอบครองรถยนต์ยังอยู่กับผู้ที่ขับรถยนต์มา จำเลยไม่ได้รับฝากรถหรือเรียกเก็บค่าบริการการนำรถยนต์เข้ามาจอด จำเลยได้รับประโยชน์จากผลกำไรจากการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการตามปกติทางการค้าเท่านั้น พนักงานรักษาความปลอดภัยที่จำเลยว่าจ้างมาก็เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยเป็นสำคัญ การติดตั้งกล้องวงจรปิดดูแลรถที่เข้าออก เป็นการจัดการจราจรเฝ้าระวังคนร้ายโจรกรรมอันเป็นบริการเสริมให้แก่ผู้มาใช้บริการ อาคารห้างของจำเลยสาขานวนครมีลักษณะเป็นอาคารสาธารณะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และลานจอดรถของจำเลยก่อสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว บุคคลทั่วไปสามารถนำรถเข้ามาจอดหรือเข้าออกได้แม้ไม่ได้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลยก็ตาม ลักษณะลานจอดรถของจำเลยจึงเป็นที่สาธารณะตามคำนิยามของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากตามขนาดของห้างซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถสำหรับเป็นที่จอดรถของลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลยก็เป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ การจัดสถานที่จอดรถจึงเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น ในการให้บริการดังกล่าวจำเลยย่อมต้องมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย การที่จำเลยยินยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องให้การดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของลูกค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ที่ต้องดูแลรถกระบะที่นายอนุกูลลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลย เมื่อวินิจฉัยมาดังนี้ ปัญหาว่าลานจอดรถของจำเลยเป็นที่สาธารณะตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

            ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า เหตุที่รถกระบะสูญหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ในการดูแลรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดที่ลานจอดรถของจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ได้จัดให้มีการแจกบัตรแก่ลูกค้าที่นำรถยนต์เข้ามาจอดในลานจอดรถเมื่อรถยนต์ของลูกค้าสูญหายไปจึงถือไม่ได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วและข้อเท็จจริงรับฟังได้อีกว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรเข้าออกสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดแต่ขณะเกิดเหตุได้ยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทน การที่จำเลยแจกบัตรเข้าออกสำหรับลูกค้าที่นำรถยนต์เข้ามาจอดบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยแสดงว่าจำเลยใช้มาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าโดยมีพนักงานคอยตรวจสอบดูแลรถยนต์ในขณะที่เข้าหรือออกจากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลย หากไม่มีบัตรที่มอบให้ในขณะที่นำรถยนต์เข้ามาจอดก็ไม่สามารถนำรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยได้ อันเป็นมาตรการในการตรวจสอบที่ค่อนข้างจะรัดกุมแต่จำเลยกลับยกเลิกไป และปรากฏตามทางนำสืบของจำเลยด้วยว่าจำเลยได้ติดป้ายเตือนไว้ที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยว่าลูกค้าต้องดูแลทรัพย์สินของตนเองจึงเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยให้ลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง ทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้นไม่สามารถป้องกันการโจรกรรมได้แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าได้ ดังนั้นการที่รถกระบะที่นายอนุกูล ขับมาจอดที่ลานจอดรถของจำเลยสูญหายไป จึงเกิดจากการงดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

            พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ