สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เมื่อเช็คเด้งความผิดทางอาญาต่อมาสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะรถโดยยึด เป็นเหตุให้ความผิดระงับไปด้วยหรือไม่

ในปัจจุบันการใช้ตั๋วเงินมาเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาแทนเงินเริ่มมีมากเป็นทวิคูณ เพราะเป็นการสะดวกต่อการหนี้ซึ่งไม่ต้องเบิกเงินสดจากธนาคารหรือเอาเงินสดมาจากบ้านเป็นจำนวนมากๆ มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรือเป็นเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องนับเงินว่าครบถ้วนตามที่ได้ตกลงตามสัญญาที่ต้องผูกพันชำระหนี้ระหว่างกันหรือไม่
สิ่งที่มีคุณย่อมมีโทษเสมอ ทนายความเชียงใหม่จึงจะขอพูดเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวนั้น มีโทษทางอาญาคือโทษจำคุก ไม่เกิน ๑ ปี โดยกำหนดไว้ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ บัญญัติว่า  "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ"
การออกเช็ดให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีพฤติการณ์หรือเจตนาคือ เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชี หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีหรือมีเงินเหลือไม่พอที่จะใช้เงินตามเช็ค หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต โดยการกระทำทั้ง ๔ ประการนี้ ต้องเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ ทั้งสิ้น
แต่บางกรณีก็มีข้อน่าคิดว่า การกระทำที่ได้ออกเช็คนั้น หากว่าเช็คที่ได้ออกให้ได้เด้งหรือธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว ต่อมาคู่สัญญาตกลงให้สัญญาระงับหรือสัญญาระงับโดยข้อสัญญาแล้ว เช็คได้เด้งไปแล้ว ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ จะระงับไปด้วยหรือไม่

ในประเด็นนี้ทนายความเชียงใหม่ได้ขอนำเอาคำพิพากษาของศาลฎีกามาเป็นกรณีศึกษาว่า ตามปัญหาดังกล่าวนั้นจะมีผลตามกฎหมายอย่างไร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284 - 285/2553 จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและบันทึกข้อตกลงการชำระค่าเช่าซื้อ เมื่อโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนอันเป็นผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ก็ไม่ทำให้ความผิดอาญาที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วระงับไป จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ มิได้ระงับหรือสิ้นผลผูกพันไป คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
ซึ่งตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาดังกล่าวนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อชำระค่าเช่าซื้อต่อมาเช็คเด้ง ทำให้เกิดเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เกิดขึ้น ต่อมาผู้ให้เช่าได้ยึดรถยนต์กลับคืนมาไว้ในความครอบครองของผู้ให้เช่า ทำให้สัญญาเช่าซื้อระงับหรือเลิกกันตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผลทางกฎหมายให้ทางแพ่งเท่านั้น แต่ความผิดในทางอาญาไม่ได้ระงับไปด้วย ดังนั้นผู้ออกเช็คย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นั้นเอง
ดังนั้น การจะออกเช็คให้แก่เจ้าหนี้นั้น ทนายความเชียงใหม่ขอเตือนให้ทราบว่า นอกจากจะต้องรับผิดในทางแพ่งแล้วยังเป็นความผิดตามกฎหมายในทางอาญาอีกด้วย นี้ก็เป็นโทษขอการใช้เช็คโดยไม่ได้คำนึกถึงโทษของเช็คเพราะว่ามีกฎหมายกำหนดโทษเอาไว้
โดยส่วนตัวแล้ว ความผิดเกี่ยวกับเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 นั้น ในทางการดำเนินคดีและทางศาลแล้วถูกนำมาใช้ในการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญามากกว่าที่จะต้องการให้ลูกหนี้ติดคุก หรือเรียกง่ายๆว่า เอาอาญามาบีบให้ชำระหนี้นั้นเอง ทำให้การใช้กฎหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ผิดวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายไป และเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้มากๆ ในอนาคตอาจมีการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ก็เป็นไปได้