สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การจะได้รับประโยชน์ตามมาตรา 100/2 นั้น

การจะได้รับประโยชน์ตามมาตรา 100/2 นั้นจะต้องมีการสืบพยาน

การให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม มาตรา 100/2 นั้น จะต้องกระทำการสืบพยานในศาลชั้นต้นเท่านั้น หากศาลได้พิพากษาไปแล้ว จะมาให้ข้อเท็จจริงภายหลังไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไต่สวนคำร้องดังกล่าวภายหลังก็ไม่เกิดผลเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้นได้ เพราะเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจของศาลชั้นต้น ดังนั้น การที่ผู้กระทำความผิดตกเป็นจำเลยในคดียาเสพติดจะต้องวางแผนให้การมาในศาลชั้นต้นและต้องกระทำการสืบพยานในศาลชั้นต้นให้เสร็จสิ้นก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี มิฉะนั้น ย่อมไม่อาจนำข้อเท็จจริงนี้ขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้
กรณีนี้ ได้นำเอาคำพิพากษามาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประกอบความเข้าใจดังนี้

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4267/2561 การให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษนั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งศาลจะหยิบยก
เอาข้อเท็จจริงในบันทึกการจับกุมตามคำร้องฝากขังมารับฟังเพียงลำพังว่ามีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยไม่มีการสืบพยานอื่นประกอบหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพโดยไม่มีการสืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนเหตุลดโทษตามมาตรา 100/2 โดยไม่มีอำนาจ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นไต่สวนดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว
เงื่อนไขของการจะได้รับประโยชน์ตามมาตรา  ๑๐๐/๒  นั้น  มีว่าอย่างไร
หลักเกณฑ์
มาตรา 100/2  ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้
คำอธิบายหลักกฎหมายดังกล่าวนั้น
กำหนดเงื่อนไขว่า                  ๑.ต้องเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
๒.ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
๓.ให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง  หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน  ศาล
๔.เมื่อครบ  เงื่อนไขตามข้อ ๑  ถึง  ข้อ  ๓.  แล้ว  ศาลจะลงโทษผู้กระทำผิดนั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ก็ได้
ตามข้อ ๑.  นั้น  ผู้กระทำจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  เท่านั้น  นั้นหมายความว่า  ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา  ๑๐๐/๒  นั้น  จะต้องเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย  ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดที่มีไว้เพื่อเสพ หรือแม้กระทั้งเป็นตัวการ  ผู้ใช้  หรือผู้สนับสนุนในกับผู้กระทำความผิดโดยตรงก็ได้รับประโยชน์จากมาตรานี้ทั้งสิ้น  ส่วนการกระทำความผิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้วย่อมไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา  ๑๐๐/๒  เช่น  ความผิดฐานลักทรัพย์  ความผิดฐานยักยอก  ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  เป็นต้น  ความผิดเหล่านี้จะไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา  ๑๐๐/๒ 

               

ตามข้อ  ๒.  นั้น  ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษนั้น  จะต้องเป็นการในข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง  พนักงานตำรวจ  หรือศาล  ที่ตนถูกดำเนินคดี  ทั้งนี้  เมื่อมีการพิจารณาคดี  จำเลยจะต้องยื่นคำร้องหรือคำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในการขอให้ศาลพิจารณาลดโทษ  ตั้งแต่ศาลชั้นต้น  หากไม่ได้แถลงไว้ในศาลชั้นต้น  แต่กลับมาแถลงไว้ในคำอุทธรณ์  หรือฎีกาแล้ว  ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ไม่ได้ยกเรื่องการขอลดโทษตามมาตรา  ๑๐๐/๒  มาตั้งแต่ในศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา  จะรับไว้พิจารณาพิพากษาลดโทษให้ไม่ได้  ทั้งนี้  ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา  ดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2562  แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี  จำเลยมิได้ยื่นคำร้องหรือแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญในคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด แต่เมื่อจำเลยไม่สืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ไม่เคยเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบกันไว้ แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะปรากฏตามสำเนาบันทึกจับกุมเอกสารท้ายคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 1 ก็ตาม เมื่อโจทก์และจำเลยไม่เคยนำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้ในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้น          

อ้างในชั้นอุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
                และการให้ข้อมูลเป็นเหตุสามารถนำพาไปจับกุมและสามารถขยายผลจับกุม  ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรายอื่นได้อีก  หากเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมตามหน้าที่ปกติแล้วไม่ได้เกี่ยวกับการให้ข้อมูลของผู้กระทำความผิดแล้ว  ย่อมไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา  ๑๐๐/๒  เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2561  การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนหนึ่งที่บริเวณลานจอดรถ และนำไปตรวจค้นยึดได้ที่ในห้องพักอีกจำนวนหนึ่งเป็นการที่เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่พักพบของกลางตามปกติในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดลักษณะนี้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในอันที่จะให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
                นอกจากนั้น  การแจ้งข้อมูลจะต้องแจ้งที่อยู่และนำพาไปจับกุมด้วย  มิฉะนั้น  ยังถือว่า  ไม่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ  เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6413/2561  ร้อยตำรวจโท ส. และร้อยตำรวจเอก ว. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนมาจาก ว. แล้วได้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ไว้ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งที่อยู่ ว. และไม่ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุม ว. แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีการขยายผลจนสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนหรือจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ทั้งยังไม่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
                และข้อนี้เป็นข้อสำคัญ  กล่าวคือ  จะต้องให้ข้อมูลโดยนำพาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพาไปจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นในจำนวนของยาเสพติดที่มากกว่าคดีของตนเอง  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2560  จำเลยที่ 2 ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจนได้มีการสืบสวนขยายผลจนไปพบ ซ. ที่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่ง แม้จับกุมตัว ซ. ผู้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งไม่ได้ แต่ก็นำไปสู่การยึดเมทแอมเฟตามีนได้ถึง 5,800 เม็ดเศษ มากกว่าของกลางในคดีนี้ และเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้มีโอกาสเห็นตัว ซ. อีกทั้งยังได้บันทึกรูปพรรณสัณฐานของ ซ. ไว้แล้วอันเป็นประโยชน์ในการสืบสวนติดตามจับกุมในโอกาสต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
                ตามข้อ  ๓. นั้น  จะต้องให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง  หรือตำรวจ  หรือศาล  ไม่ว่าจะเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง  ตำรวจ  หรือศาล  จะต้องเป็นบุคคลจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้วย  หากไม่ใช่เป็นพนักงานผู้จับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้ว  แม้ผู้กระทำความผิดจะให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตาม   แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจท่านนั้น  ไม่ได้เป็นผู้จับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้ว  ย่อมไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา  ๑๐๐/๒  โดยมีคำพิพากษากำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเอาไว้ดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446/2562  พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้" ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ  บันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏชื่อสิบตำรวจเอก ว. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมจับกุมจำเลย หรือเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่จำเลยถูกดำเนินคดี พยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 100/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
                ข้อ  ๔.  เมื่อได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเอาไว้แล้วจำนวน  ๓  เงื่อนไข  ศาลจะลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดตามดุลพินิจของศาล 

                ดังนั้น  การจะได้รับประโยชน์จากมาตรา ๑๐๐/๒  ได้นั้น  จะต้องทำตามเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ครบถ้วน