สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

สัญญาขายฝากนั้น คือสัญญาขายและให้สิทธิแก่ผู้ขายที่จะซื้อคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งสัญญาขายฝากนี้ มีกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491  อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
และประเด็นว่า สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้น ต้องมีระยะเวลานานเท่าไหร่ โดยกฎหมายกำหนดว่า สิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนนั้น หากเป็นทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์จะกำหนดระยะคู่สัญญาว่าจะให้สิทธิแก่ผู้ขายฝากนานเท่าไหร่ก็ได้แต่ต้องไม่เกินกว่า 10 ปี ส่วนทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์จะกำหนดระยะเวลาระหว่างคู่สัญญาว่าจะให้สิทธิแก่ผู้ขายฝากนานเท่าไหร่ก็ได้แก่ต้องไม่เกินกว่า 3 ปี ซึ่งในเรื่องระยะเวลาไถ่นั้น กฎหมายกำหนดเอาไว้ใน มาตรา  494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้ (1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย (2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย แต่อย่างไรก็ตาม หากชาวบ้านไม่ได้รู้กฎหมายกำหนดระยะเวลาไถ่นานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ในมาตรา 494 เช่น เป็นการขายฝากที่ดินเป็นระยะเวลา 15 ปี จะมีผลอย่างไร ซึ่งในปัญหานี้ กฎหมายได้กำหนดว่า หากมีข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาขายฝากได้กำหนดระยะเวลาไถ่นานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้ลดลงมาเหลือ 10 ปีและ 3 ปี แล้วแต่กรณี เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 495  ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์
ตามที่ทนายความเชียงใหม่ได้นำเรื่องไปนั้นเป็นความรู้กฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับขายฝากที่ดิน แต่ว่ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นว่า หากมีการขายฝากที่ดินแล้ว ต่อมาผู้ขายฝากได้ปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในที่ดินระหว่างสามารถใช้สิทธิไถ่ได้ โดยที่ผู้ซื้อฝากรับรู้เกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินมาโดยตลอดแต่ไม่ได้โต้แย้งหรือห้ามปรามการก่อสร้างบ้านของผู้ขายฝากแต่อย่างใด จนกระทั่ง ผ่านพ้นระยะเวลาไถ่ทรัพย์สินคืน จึงมีปัญหาว่า บ้านบนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของใครแล้วมีสิทธิหน้าที่ต่อกันอย่างไรบ้าง

ทนายความเชียงใหม่ขอให้คำตอบว่า บ้านเป็นของผู้ซื้อฝากเพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทนั้น บ้านเป็นทรัพย์สินที่ปลูกสร้างแบบตรึงตราถาวรจึงเป็นส่วนควบของที่ดิน เจ้าของที่ดินย่อมเป็นเจ้าของส่วนควบนั้นด้วย แต่ทั้งนี้ การปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเป็นการปลูกสร้างบ้านโดยสุจริต เจ้าของที่ดินจึงต้องมีหน้าที่ในการใช้ราคาที่ดินที่เพื่อขึ้นเพราะการปลูกสร้างโรงเรือนนั้น ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา มาตรา 1310  บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น ๆ แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้าง
โดยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นกรณีศึกษาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2543
จำเลยปลูกสร้างอาคารทาวน์เฮ้าส์ในที่ดินพิพาททั้งก่อนและหลังทำสัญญาขายฝากเฉพาะที่ดินพิพาทแก่โจทก์ โดยโจทก์รับรู้และยินยอมให้ปลูกสร้างและจำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จเพราะเชื่อว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินพิพาทคืนได้ภายในเวลาที่กำหนดในสัญญาการปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ปัญหาว่าจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ หรือไม่ กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับได้โดยตรง จึงต้อง อาศัย เทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เป็นเจ้าของโรงเรือนนั้นแต่ถ้าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินสามารถแสดงได้ว่ามิได้มีความประมาทเลินเล่อจะบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้นและเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้ตามมาตรา 1310 วรรคสอง การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างอาคารต่อไปทั้งที่ได้ทำสัญญาขายฝากโดยโจทก์มิได้ห้ามปราม หรือขอให้จำเลยยุติการก่อสร้างถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้นและเรียกให้จำเลยผู้สร้างรื้อถอนไปตามมาตรา 1310 วรรคสอง และไม่อาจเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้เพราะจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์