คำว่า ไถ่คืนในภายหลัง ในสัญญา เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้ |
---|
ในเรื่องของการกู้ยืมเงินนั้น เชื่อว่า หลายๆท่านก็ต้องเคยที่จะกู้ยืมเงินจากเพื่อน จากคนรู้จัก หรือจากนายทุน อย่างแน่นอน แต่ในบางครั้งการกู้ยืมเงินนั้นอาจไม่ได้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือหลักฐานเป็นหนังสือหรือเป็นหนังสือสัญญากู้อย่างที่เราเข้าใจกัน ตามกฎหมายแล้วย่อมส่งผลให้การกู้ยืมเงินเป็นหนี้ระหว่างกัน แต่ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีต่อกันได้ กล่าวคือ เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องคดีได้แต่ต้องแพ้คดีเพราะไม่มีหลักฐานของการกู้ยืมเงินมาแสดงต่อศาล ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ดังนั้น การจะฟ้องคดีให้มีโอกาสชนะสูงได้นั้น จะต้องมีหนังสือสัญญากู้หรือหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงต่อศาล |
ทั้งนี้ มี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2549 หนังสือสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 มีข้อความว่า "ผู้จะขายยอมตกลงขายที่นาฝากไว้... เป็นราคาเงิน 200,000 บาท มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาถึงวันที่ 1 เมษายน 2543 หากไม่มีเงิน 200,000 บาท มาคืนให้ผู้ซื้อ ผู้ขายยอมให้ที่นาจำนวน 15 ไร่ ตามสัญญาให้แก่ผู้จะซื้อ ณ วันที่ 1 เมษายน 2543" มีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะยอมให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อถึงเวลาที่กำหนด มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในที่นาตกไปยังโจทก์ทั้งสองทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 อาจไถ่ที่นานั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนหนึ่งไปจากโจทก์ทั้งสองและตกลงว่าจะชำระคืนให้ อันเข้าลักษณะเป็นการกู้เงิน และหนังสือสัญญาดังกล่าวย่อมใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวมาในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่โจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเท้าความถึงข้อความที่ปรากฏในหนังสือสัญญา ซึ่งโจทก์แนบสำเนามาท้ายคำฟ้องเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าต้องด้วยบทกฎหมายใด โดยเฉพาะโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องขอให้บังคับคดีเกี่ยวกับที่ดิน คงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนท่านั้น |