ประมวลกฎหมายอาญา |
---|
มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2559 แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่ ภ. และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ. เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ. หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย ภ. จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ ภ. มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278 - 284/2559 ป.อ. ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุมิได้บัญญัติบทนิยามของ "เจ้าพนักงาน" ไว้ เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐมิได้มีแต่ส่วนราชการ แต่ประกอบไปด้วย รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐ รวมทั้งองค์กรอิสระ สำหรับองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายเป็นองค์การของรัฐบาลที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวได้มีการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งทั้ง พ.ร.บ. และ พ.ร.ฎ. ล้วนระบุว่าการจัดตั้งใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินและทุนประเดิมจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจัดให้มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และมอบหมายให้ผู้เสียหายเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการดังกล่าว ดังนั้น ว. หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวเปลือกนอกจากจะมีฐานะเป็นพนักงานองค์การคลังสินค้าผู้เสียหายแล้ว ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลตามที่ผู้เสียหายได้รับมอบหมายจากรัฐบาลโดยมีหน้าที่ออกใบรับของคลังสินค้าและใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญาจำนำและรับเงินจากธนาคาร พ. เมื่อธนาคารดังกล่าวจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรแล้วก็จะนำเอกสารที่เกษตรกรมอบให้ไปเบิกเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลซึ่งบางส่วนเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน การกระทำของ ว. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของรัฐในโครงการดังกล่าว แม้ ว. ไม่ใช่เป็นข้าราชการที่รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นพนักงานที่รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากผู้เสียหายที่เป็นองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการงานของรัฐบาลโดยแท้ อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ย่อมถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ว. ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงาน
|
บทความที่น่าสนใจ |
-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร
|