สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557

แม้จำเลยที่ 1 สั่งให้รื้อถอนบ้านของโจทก์ร่วมด้วยความระมัดระวัง ไม่เป็นเหตุให้วัสดุที่รื้อถอนเสียหาย ทั้งนำไปเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อให้โจทก์ร่วมนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้บ้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไม่เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไป อันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น การที่อำเภอบุณฑริกแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันตำบลคอแลนเป็นประธานกรรมการกลางและประธานกรรมการปกครองเพื่อประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองนั้นไม่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมโดยพลการได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์วัสดุที่รื้อถอนจากบ้านของโจทก์ร่วม โดยไม่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเป็นเรื่องข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียด มิใช่ข้อสาระสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้

ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

จำเลยที่ 1 รื้อบ้านของโจทก์ร่วมซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนานนับสิบปี แล้วสร้างศาลาที่พักสาธารณประโยชน์ขึ้นแทน เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามโครงการพัฒนาหมู่บ้าน แม้เป็นความผิดต่อกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก จึงให้รอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12265 - 12266/2556

สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์ขอคืนของกลางตามบัญชีทรัพย์ที่ตรวจพบแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์เป็นของโจทก์ร่วม

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร