สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๖๒  ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี

วรรคสอง ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา ๕๙ หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วรรคสาม บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น

 

 

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558 การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16275/2557 แม้ขณะที่จำเลยทำหนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในขณะนั้นจะไม่ปรากฏคำว่า "แกนนำ" แต่ก็เป็นถ้อยคำที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายทั้งในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และในสังคมไทยที่มีการชุมนุมกันทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ มากมาย โดยเป็นการนำความหมายของคำว่า "แกน" ซึ่งเป็นคำนามหมายความว่า วัตถุแข็งที่อยู่ตรงกลางของสิ่งอื่นสำหรับยึดให้อยู่ และความหมายของคำว่า " นำ" ซึ่งเป็นคำกริยาหมายความว่า ไปข้างหน้า เช่น นำขบวนหรือออกหน้ามากล่าวรวมกันเป็น "แกนนำ" เพื่อบ่งบอกว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการชุมนุมกันทางการเมืองนั้น เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหลักยึดเป็นผู้นำให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมนั่นเอง ซึ่งต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ให้ความหมายในทำนองนี้ว่า "แกนนำ" เป็นคำนามแปลว่า ผู้ที่เป็นหลักในการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงอาจถือเอาตามความหมายที่รู้และเข้าใจกันในการสื่อสารในสังคมไทยในขณะนั้นเพื่อพิจารณาว่าข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่

จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของ ด. เป็นแกนนำในการจัดกำลังพนักงานพิทักษ์ป่าและเคลื่อนกำลังไปชนกับกลุ่มของ ส. ที่ชุมนุมกันอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบขึ้นกับบ้านเมืองจริงตามข้อความที่จำเลยเขียน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำกระทำการดังที่จำเลยกล่าวใส่ความจริง แต่จำเลยสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง จำเลยย่อมได้รับยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 62 ประกอบมาตรา 330 และปัญหาว่า การกระทำของจำเลยได้รับยกเว้นโทษเพราะสำคัญผิดในข้อที่หาว่าหมิ่นประมาท เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556 จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย

 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร