สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 460  ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว

วรรคสอง ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำแล้ว


 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9161/2544 ที่ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อขายคดีนี้เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรได้โอนไปยังลูกหนี้นับแต่เมื่อได้เข้าทำสัญญาซื้อขาย ทำให้เจ้าหนี้ต้องออกใบกำกับภาษีในวันที่ทำสัญญา ตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรได้บรรยายชนิดและจำนวนเครื่องจักรไว้ 9 รายการ มิได้ระบุหมายเลขประจำเครื่องจักรหรือหมายเลขประจำอุปกรณ์แต่ละชิ้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงยังมิใช่ทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ทั้งในสัญญาก็มีข้อความว่า ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาเพียงร้อยละ20 ส่วนราคาที่เหลืออีกร้อยละ 80 ผู้ซื้อจะชำระให้ร้อยละ 40 ในวันส่งมอบเครื่องจักรและจะชำระส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 ในวันที่ติดตั้งเครื่องและทดลองคุณภาพของเครื่องที่ได้กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว เห็นได้ว่าสาระสำคัญของสัญญาซื้อขายนี้จะต้องติดตั้งเครื่องจักรและทดลองเดินเครื่องให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้ หากไม่ได้ผลตามที่กำหนดอาจต้องเปลี่ยนเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ได้ส่งมอบแต่ละรายการหรือทั้งหมดอีกก็ได้กรณีจึงเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 460 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าแต่ละชิ้นในวันที่ส่งมอบหรือติดตั้งสินค้า จึงเป็นการปฏิบัติสอดคล้องกับข้อตกลงในสัญญาซื้อขายแล้ว การที่เจ้าหนี้ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10จึงมิใช่ความผิดของเจ้าหนี้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2541 มาตรา 78 เบญจ และมาตรา 79 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ เป็นบทบัญญัติในหมวดภาษีการค้าที่บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ แก่การจัดเก็บและชำระภาษีการค้าเท่านั้น ไม่อาจนำมาใช้ ในกรณีของภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะได้ เพราะหลักการเก็บภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลแตกต่างกันโดยภาษีการค้าเรียกเก็บจากรายรับก่อนหักรายจ่ายส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากกำไรสุทธิ ซึ่งคำนวณจากรายได้ของกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคหนึ่ง และในมาตรา 65 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อหากำไรสุทธิว่าให้ใช้หลักเกณฑ์สิทธิสำหรับยอดขายสินค้าพิพาทเป็นการขายสินค้าไปต่างประเทศการที่โจทก์ออกใบกำกับสินค้าซึ่งระบุรายละเอียดของชนิดปริมาณ และราคาสินค้า แสดงว่า โจทก์ได้กำหนด คัด เลือก นับ ชั่ง ตวง วัด เพื่อให้ได้ตัวสินค้าที่ตกลงซื้อขาย เป็นการแน่นอนแล้ว และโจทก์ได้ส่งมอบสินค้านั้นให้แก่ผู้ขนส่งเรียบร้อยแล้ว ถือว่าการส่งมอบนั้นสำเร็จแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 461 และ463 ทั้งกรรมสิทธิ์ก็ได้โอนไปยังผู้ซื้อแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453,458 และ 460 ดังนั้น การที่โจทก์ลงบัญชีรับรู้รายได้จากการขายสินค้าหรือบันทึกยอดขายสินค้าพิพาท ในวันที่ 31 มีนาคม 2533ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับใบกำกับสินค้าและใบตราส่ง ถือได้ว่าเป็นการ รับรู้รายได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์สิทธิแล้ว ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นได้รวมยอดซื้อวัตถุดิบซ้ำเข้าเป็นรายได้ในรอบระยะเวลา บัญชีที่พิพาทแล้ว และปรับปรุงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ จาก 22,250,261 บาท เป็น 20,349,534.81 บาทหากนำยอดขายสินค้าพิพาทจำนวน 3,571,152.31 บาทหักออกจากยอดที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ปรับปรุงแล้วผลขาดทุนสุทธิของโจทก์จะเป็นจำนวน 23,920,687.12 บาทการที่ศาลภาษีอากรมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปรับปรุงบัญชียอดซื้อวัตถุดิบซ้ำและให้คงยอดผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ไว้เท่ากับ 22,350,261 บาท ตามที่โจทก์ขอ จึงเป็นการชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2541 โจทก์ฟ้องว่า บริษัทในเครือของบริษัท อ. ซึ่งอยู่ต่างประเทศเป็นผู้ขายและส่งมอบน้ำมันแก่บริษัท ก.ในต่างประเทศโดยลำพังตนเอง ไม่ได้ขายแทนโจทก์ จำเลยให้การว่า การขายและส่งมอบน้ำมันแก่บริษัท ก. ในต่างประเทศบริษัทในเครือของบริษัท อ. เป็นผู้กระทำแทนโจทก์ และศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่าโจทก์มีรายได้จากการที่กระทำให้บริษัท อ. หรือบริษัทสาขาหรือบริษัทในเครือใด ๆ ของบริษัท อ. มีการขายและส่งมอบน้ำมันให้แก่บริษัท ก. ในต่างประเทศหรือไม่ คำว่า รายได้ในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว หมายถึงรายได้ซึ่งเป็นฐานในการคำนวณหากำไรสุทธิอันเป็นเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำ ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางหยิบยกปัญหาว่า การขายและส่งมอบน้ำมันให้แก่บริษัท ก. ในต่างประเทศเป็นกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำของโจทก์หรือไม่ขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทหาได้เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบไม่ ตามสัญญาระหว่างโจทก์และบริษัท ก. ได้ตกลงให้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแห่งประเทศไทย และมีข้อสัญญาระบุว่ากรรมสิทธิ์ในน้ำมันเป็นของผู้ซื้อ เมื่อได้ผ่านเข้าระบบเชื้อเพลิงใต้ปีกเครื่องบินแล้ว ซึ่งต้องมีการตวงวัดปริมาณน้ำมัน เพื่อให้รู้กำหนดราคาน้ำมันที่แน่นอนแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นสัญญาซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้มีการตวงวัดปริมาณน้ำมันเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 460 วรรคสอง เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความในตอนต้นของสัญญาที่ว่า ผู้ขายตกลงที่จะขายและส่งมอบหรือกระทำให้มีการส่งมอบโดยอีกฝ่ายหนึ่งตามที่ผู้ขายจะเลือกกับข้อความในสัญญาดังกล่าวที่ว่า สัญญานี้ผู้ขายอาจมอบหมายทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่ฝ่ายใด ๆ ตามที่ตนจะกำหนด และข้อความในตอนต้นของสัญญาที่ว่าผู้ขายตกลงที่จะขายและส่งมอบหรือกระทำให้มีการขายและส่งมอบ ซึ่งเชื้อเพลิงอากาศยานเทอร์โบกับข้อความในสัญญาอีกข้อหนึ่งที่ว่าผู้ขายอาจโอนสิทธิของตนภายใต้สัญญานี้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ/หรือกระทำให้ข้อผูกพันของตนข้อหนึ่งข้อใดหรือทั้งหมดได้รับการปฏิบัติตามโดยผู้อื่นแล้ว แสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายตามสัญญามีสิทธิที่จะขายหรือส่งมอบน้ำมันแก่บริษัท ก.ด้วยตนเองให้ตัวแทนส่งมอบ หรือจะให้บุคคลอื่นเป็นผู้ขายและส่งมอบน้ำมันแก่บริษัท ก. ก็ได้ การที่บริษัท อ. ในต่างประเทศขายและส่งมอบน้ำมันแก่บริษัท ก. ในต่างประเทศ เป็นการที่ขายด้วยตนเอง มิได้กระทำในฐานะตัวแทนของโจทก์ และโจทก์มิได้รับผลประโยชน์จากกรณีดังกล่าว การขายและส่งมอบน้ำมันแก่บริษัท ก. จึงมิใช่กิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำของโจทก์ โจทก์ย่อมไม่ต้องเสียภาษีส่งเงินได้นิติบุคคลจากการขายและส่งมอบน้ำมันแก่บริษัท ก. ในต่างประเทศ

  •