สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 479  ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16897/2557 โจทก์เสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไปเพราะถูกศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนขายเพื่อให้กลับสู่กองทรัพย์สินของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เพียงถูกก่อการรบกวนขัดสิทธิในอันที่จะครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 และ 476 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินทั้งสองแปลงหลุดไปจากโจทก์ทั้งหมดเพราะการรอนสิทธิตามมาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ... และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าในเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายโจทก์รู้หรือไม่ว่าเหตุรอนสิทธินั้นมีอยู่แล้ว จากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า โจทก์โดยกรรมการของโจทก์ ก็ได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแชร์น้ำมันของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงในขณะซื้อขายว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับโอนมาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนได้ แต่โจทก์ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจนรู้ได้เองอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเสียเช่นนั้นไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 479

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2548 ที่ดินพิพาทได้หลุดไปจากโจทก์เพราะการรอนสิทธิ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคาที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์คือราคาค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปแล้ว อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์เสียหายไปจริง ส่วนการที่โจทก์ไม่สามารถขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอกได้เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์จึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่ต้องเสียหายไปตามความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2531 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพิพาทเดิมค้างชำระค่าภาษีโรงเรือนต่อโจทก์ก่อนโอนขายให้จำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทต้องร่วมรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างด้วยในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม โดยผลแห่งพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 45 การที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระมาตั้งแต่จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของ ไม่ใช่เรื่องที่ทรัพย์สินที่ซื้อขายตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ศาลจึงจะพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างชำระนั้นต่อจำเลยที่ 3 ให้เสร็จไปในคดีเดียวกันตามมาตรา 477 ไม่ได้

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร