สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 145 ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่

วรรคสอง ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติอันจะเก็บเกี่ยวรวงผลได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปีไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2560 แม้ต้นปาล์มและต้นมะพร้าว โจทก์ทั้งสองจะปลูกไว้ แต่เมื่อเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ผลปาล์มและต้นมะพร้าวจึงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปเอาผลปาล์ม แล้วเข้าไปตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าว จะถือว่าทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง ส่วนต้นกล้วยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ปลูกจึงเป็นเจ้าของต้นกล้วย จำเลยทั้งสองเข้าไปโค่นทำลาย ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าแม้จะปลูกอยู่ในที่พิพาทแต่ต้นกล้วยเหล่านั้นเป็นของโจทก์ทั้งสอง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10229/2555 แม้โจทก์จะเชื่อโดยสุจริตขณะทำสัญญาเช่ากับ ล. ว่า ที่ดินที่เช่าเป็นของ ล. ก็ตาม เมื่อ ล. ไม่มีอำนาจนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อต้นยูคาลิปตัสถือได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงเป็นส่วนควบของที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นยูคาลิปตัสนั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองตัดต้นยูคาลิปตัส การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองฐานละเมิดตัดต้นยูคาลิปตัสซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 1 และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2541 เดิมที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดิน น.ส.3 ก. เป็นทรัพย์สินของ ส.ซึ่งเป็นบุตรของม.ที่เกิดกับสามีคนเดิม ส่วนโจทก์เป็นบุตรของม.กับสามีคนใหม่จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของอ.กับ สามีเดิมของม. จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นบุตรของจำเลยที่ 1ส.ถึงแก่ความตายโดยไม่มีบุตรและภริยา และศาลมีคำสั่งตั้งม.เป็นผู้จัดการมรดกของส. ม.ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยเสน่หาเมื่อปรากฏว่า ส. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1การมีชื่อใน น.ส.3 ก. ของโจทก์โดยรับโอนให้มาโดยเสน่หาจาก ม. ผู้จัดการมรดกของส. แต่มิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งต่างกับจำเลยที่ 1 ที่ได้ยึดถือที่ดินที่ได้รับการยกให้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน จำเลยที่ 1จึงได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 และมาตรา 1369การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ตัดฟันต้นยางพารา ซึ่งเป็น ไม้ยืนต้นซึ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 145 จึงหาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7438/2540 ต้นยูคาลิปตัสเป็นไม้ยืนต้นและปลูกเพื่อตัดขายเป็นคราว ๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่เมื่อมีหน่อขึ้นมาแล้วก็บำรุงรักษาหน่อไว้ก็สามารถตัดขายได้อีกดังนี้ การที่โจทก์มีเจตนาในการปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อประโยชน์เป็นเวลานานตลอดไปต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2539 โจทก์และจำเลยโต้เถียงการครอบครองที่พิพาทอยู่การที่จำเลยเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก ต้นไผ่ที่จำเลยเข้าไปตัดฟันปลูกอยู่ในที่พิพาทแม้โจทก์เป็นผู้ปลูกแต่ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา145วรรคหนึ่งและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา144วรรคสองเมื่อโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่พิพาทกันอยู่เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทการที่จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไผ่พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์