สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 149 นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6968/2559 เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558 การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13070/2558 โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ คำให้การแก้ฟ้องแย้งก็ขอชำระเงินตามจำนวนที่เห็นว่าถูกต้อง ถือว่าโจทก์ยินยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแล้ว เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตน การที่จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้ หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2557 โจทก์ซื้ออาคารชุดเชียงใหม่ทาวเวอร์จากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เมื่อจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากจำเลยมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งหากไม่มีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากจำเลยมาแสดงโจทก์ย่อมไม่อาจที่จะดำเนินการเพื่อการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมาเป็นของโจทก์ได้ เช่นนี้การที่จำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ จึงถือเป็นการใด ๆ ซึ่งจำเลยต้องกระทำเพื่อให้มีผลที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิในการจดทะเบียนสิทธิในห้องชุด อันเป็นการทำนิติกรรมฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 แล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้และโจทก์ได้ฟ้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการ จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8711/2554 หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. 213 วรรคสอง