ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 154 การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2553 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงระบุข้อความว่า "จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คที่ฟ้องจำนวน 431,103 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้จำนวน 1,565,486 บาท ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ และจำเลยจะผ่อนชำระแก่โจทก์" โดยบันทึกดังกล่าวมิได้ระบุว่าจำเลยกระทำการแทนบริษัท ซ. ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนตัวยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 1,565,486 บาท อีกคนหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือโจทก์จะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยว่าจะชำระหนี้เพียงบางส่วน หนี้ส่วนที่เหลือจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาให้มีผลผูกพันบริษัท ซ. อันจะเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะตามที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 154 จำเลยจึงต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลง จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยหรือบริษัท ซ. คนใดคนหนึ่งได้ การที่โจทก์ไม่เลือกใช้สิทธิบังคับเอาแก่บริษัท ซ. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7478/2549 ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายได้ข้อเท็จจริงแจ้งชัดว่า โจทก์ทั้งสองตกลงจดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงตามคำฟ้องให้ไว้ต่อจำเลยที่ 1 โดยสมัครใจ ส่วนที่บรรยายว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเจตนาให้เกิดผลบังคับตามสัญญานั้น ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นมากล่าวในคำฟ้องเท่านั้น โดยโจทก์ทั้งสองหาได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้ถึงเจตนาที่อ้างอันซ่อนอยู่ในใจของโจทก์ทั้งสอง อันเป็นเหตุให้สัญญาขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงตกเป็นโมฆะตามที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 154 ไม่ แต่คงรับฟังตามการบรรยายฟ้องได้ว่า สัญญาขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงเป็นนิติกรรมสองฝ่ายได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยการแสดงเจตนาด้วยความสมัครใจของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 การบรรยายฟ้องเช่นนี้ย่อมบ่งชี้แล้วว่าโจทก์ทั้งสองยอมรับว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงได้โอนไปยังจำเลยที่ 1 โดยผลแห่งนิติกรรมขายฝากที่มีต่อกัน ส่วนการบรรยายฟ้องในตอนหลังที่โจทก์ทั้งสองยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงคืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองก็ได้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อมาจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในภายหลังต่อเนื่องกันมาเพื่อปรับเข้าข้อกฎหมายในเรื่องครอบครองปรปักษ์เพื่ออ้างเหตุการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงกลับคืนมาจากจำเลยที่ 1 การบรรยายฟ้องทั้งหมดของโจทก์ทั้งสองจึงมิใช่มีสองนัยอันขัดแย้งกันอยู่ในตัวดังที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่เป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2540 กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 154เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาด้วนกันเอง เจ้าหนี้ซึ่งเป็นประธานกรรมการของลูกหนี้ได้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของลูกหนี้แล้ว ต่อมาภายหลังเจ้าหนี้ได้ทำหนังสือสละสิทธิไล่เบี้ย และสละสิทธิในการับช่วงสิทธิบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่เหนือลูกหนี้ทุกอันดับให้ไว้แก่บริษัทลูกหนี้เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามา ตรวจ กิจการของลูกหนี้แล้วพบว่าเจ้าหนี้ได้เอาเงินของลูกหนี้ไปซื้อที่ดินมาเป็นของเจ้าหนี้เป็นส่วนตัวและเพื่อให้เจ้าหนี้จะได้บริหารงานของลูกหนี้ต่อไป แม้หากเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับลูกหนี้ทำหนังสือดังกล่าวขึ้นก็ตาม แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยและเจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นได้เชื่อว่าเจ้าหนี้ได้สละสิทธิดังกล่าวจริง เจ้าหนี้จึงต้องห้ามมิให้ยกข้อไม่สมบูรณ์นี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก ดังนี้เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
|