สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 155 การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

 

วรรคสอง ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2561 โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2561 ดอกเบี้ยที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นเงิน 2,100 บาท หรือเท่ากับ 25,200 บาท ต่อปี เมื่อนำไปรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้และแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้น ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง

แม้การขายฝากที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนสัญญาขายฝาก เป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปก่อนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว ประกอบกับโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้รู้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกันจริง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวง ย่อมได้รับคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2561 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560 ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440 - 3441/2559 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองไว้กับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ไถ่จำนองให้แก่ธนาคารแทนโจทก์ โจทก์จึงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันอย่างแท้จริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนั้นตามรูปคดีของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไม่ เพราะนิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น จะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งผูกนิติสัมพันธ์กัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์คงมีเพียงนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม 2 นิติกรรมอำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์ ก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีก็ตาม สิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2558 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีคือจำเลยยอมชำระเงินแทน ฉ. ในมูลหนี้ที่ ฉ. ทำสัญญากู้เงิน ป. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงถือได้ว่าเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ ฉ. โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน