สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

วรรคสอง ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม  ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2562 โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเนื่องจากการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อลงในเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ของจำเลยที่ 1 การเพิ่มทุนและโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้ดำเนินการได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่โจทก์สงสัยจำเลยที่ 2 ที่นำเอกสารต่างๆ ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เมื่อพิจารณาเอกสารแล้ว ก็ปรากฏว่า เป็นภาษาไทยในขณะที่โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ จึงย่อมเป็นไปได้ว่า โจทก์ไม่เข้าใจความหมายในเอกสารดังกล่าว และเมื่อโจทก์มอบหมายให้ ด. พยานโจทก์ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วพบว่า มีการยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ก็ดี การเพิ่มและการโอนหุ้นไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวก็ดี การเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 มีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวก็ดี ซึ่ง น. พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า ไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้ โจทก์ยังดำเนินการฟ้องร้องจนศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อถือว่า โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์จำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงนามร่วมกับโจทก์ โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมลงนามกับโจทก์ จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเอกสารต่างๆ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 2 หลอกให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือเพียงจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว และตรวจพบว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาท น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับ ส. และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและนำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ราคา 15,000,000 บาท มีกำหนดระยะ 1 ปี จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมไม่ว่าจดทะเบียนจำนอง จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และจดทะเบียนขายฝากดังกล่าวนั้น ไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมดังกล่าว มติที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำในฐานะของกรรมการของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เท่ากับไม่เคยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7666/2559 การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559 จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10258/2558 โจทก์เพียงต้องการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทจึงลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยยังไม่ได้กรอกข้อความให้ อ. นำไปจำนอง จำเลยที่ 1 ไปกรอกข้อความเป็นขาย แล้วดำเนินการจดทะเบียนเป็นว่าโจทก์ขายแก่จำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์และ อ. ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินในวันจดทะเบียนซื้อขาย ไม่รู้เห็นยินยอมให้ขายและไม่ได้รับเงินค่าขายแต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ต้องถือว่านิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์ และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสีย จริงอยู่แม้การที่โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 รู้เห็นเกี่ยวกับการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเป็นผู้ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 2 มีเจตนาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งการซื้อขายคือที่ดินและบ้านที่ ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 ชี้ให้ดู อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งการซื้อขาย ไม่ได้มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทเนื่องจากถูก ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงเป็นไปโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จำเลยที่ 2 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสียเช่นกัน ในกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 สุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้เสียค่าตอบแทนอันอาจได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวเอาจาก ธ. ก. และจำเลยที่ 1 ไม่เป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5057/2558 เมื่อต้นปี 2534 รัฐบาลมีโครงการจัดหาที่ดินให้แก่ราษฎรมีที่ทำกิน จำเลยกว้านซื้อที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทแล้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 318 มี ห. เป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งไม่เคยมีการเดินสำรวจที่ดินแปลงพิพาทมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2537 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยนำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ ขั้นตอนตั้งแต่จำเลยจัดหาซื้อที่ดินไปจนกระทั่งนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ใช้เวลาเพียงประมาณ 7 เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย เพราะจำเลยเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินหลายแปลงจากผู้อื่นรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ก่อนวันที่ ป. ที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ต่อนายอำเภอท้องที่ แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินที่รู้เห็นกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยใช้ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทั้งนี้เพื่อจะหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาท การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 412 ว่าด้วยลาภมิควรได้กำหนดให้ต้องคืนเต็มจำนวน ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินค่าที่ดินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนเมื่อไร จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2551 จำเลยหลอกลวงเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิมาหลอกขายให้โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองสามารถโอนสิทธิและนำไปออกเอกสารสิทธิได้ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 และต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี