สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1696  ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป

วรรคสอง วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5720/2541 แม้คำฟ้องโจทก์ในช่องจำเลยจะมิได้ระบุว่า จำเลย มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ก็ได้บรรยายโดย รายละเอียดว่า เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้จัดการโอนมรดก ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม แต่กลับโอนเป็นของจำเลย แต่ผู้เดียวในชั้นสืบพยานโจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่า ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ดังนี้ ถือได้ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดี เกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่จัดการมรดก สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่คดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปีไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 ยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ จำเลยโอนที่ดินมรดกมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว แม้จะถือว่าวันดังกล่าวจัดการมรดกเสร็จสิ้นก็ตาม คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับที่ดิน และบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 แต่สิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 4779 โจทก์ที่ 1มีสิทธิได้รับลดลงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เกี่ยวกับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 ดังนั้นที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง หมาย จล.3 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยย่อม ไม่มีสิทธิฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหมาย จล.3 ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2252 เดิมมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ป. เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายการเมือง ขอยกให้จำเลย 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ส่วนที่เหลือยกให้โจทก์ทั้งสองคนละเท่า ๆ กัน หมายความว่า ยกให้โจทก์คนละ 2 ไร่ 2 งาน เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนแล้วจำเลยจะได้ที่ดิน 59 ส่วน โจทก์จะได้ที่ดินคนละ 25 ส่วนแต่ก่อน ป. ตาย ป. ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ม.กึ่งหนึ่ง กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ยกให้ ม. เป็นอันเพิกถอนไปคงเหลือที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมโดยการแบ่งตามสัดส่วนคือจำเลยได้ 59 ส่วน โจทก์ทั้งสองได้คนละ 25 ส่วน ของที่เหลือ หรือได้รับที่ดิน น้อยลงคนละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ระบุในพินัยกรรม คิดแล้วจำเลยได้ที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวาโจทก์ได้ที่ดินคนละ 1 ไร่ 1 งาน มิใช่แบ่งให้จำเลยได้ที่ดินครบ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ก่อน เมื่อมีที่ดิน เหลือจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสองไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2540 ข้อกำหนดตามพินัยกรรมฉบับพิพาทระบุถึงทรัพย์สินที่มีอยู่ในขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีต่อไปภายหน้าอันเป็นการทั่วไป มิได้จำกัดเฉพาะที่ดินหรือทรัพย์สินสิ่งใดไว้โดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้น แม้ผู้ทำพินัยกรรมจะจำหน่ายที่ดินหรือทรัพย์สินส่วนของตนไปหมดแล้ว แต่หากได้ทรัพย์สินอื่นมาภายหลัง ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดในพินัยกรรม กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696และต้องถือว่าข้อกำหนดตามพินัยกรรมยังมีผลบังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9503/2539 การโอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมอันจะทำให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง หมายถึงการโอนทรัพย์สินที่ยังมีผลอยู่ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เมื่อ ฟ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 182 ให้แก่ น. และเลขที่ 206 ให้แก่ น. กับโจทก์ที่ 8 แล้ว แม้ต่อมา ฟ.ได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ น. โดยเสน่หาแต่หลังจากนั้น ฟ. ก็ได้ฟ้องขอถอนคืนการให้และขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นของ ฟ. จึงถือไม่ได้ว่า ฟ. ได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นจึงหาเป็นอันเพิกถอนไปไม่