สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2558 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสองฉบับ เพื่อค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร. เจ้าหนี้เดิม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 และ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ตามลำดับ ในขณะที่จำเลยที่ 3 อายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ จึงยังไม่บรรลุนิติภาวะตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 เพราะจำเลยที่ 3 เกิดวันที่ 11 มีนาคม 2520 การทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) หรือแทนบุคคลอื่น (จำเลยที่ 1) จึงเป็นการทำนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ซึ่งตามมาตรา 1574 (10) แห่ง ป.พ.พ. ได้บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตจากศาลให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันได้ การทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2558 แม้ผู้ร้องและผู้เยาว์เป็นอิสลามศาสนิกซึ่งมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น แต่คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การขออนุญาตศาลดังกล่าว เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง สภาพแห่งข้อหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องครอบครัวและมรดกโดยตรงที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์อันเป็นเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อผู้เยาว์อายุ 19 ปี จึงยังไม่พ้นจากภาวะผู้เยาว์ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีเหตุต้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักกฎหมายอิสลามว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ มายกคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ชอบ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2549 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม ตามฟ้องก็ดี ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคแรก ที่พิจารณาได้ความก็ดีมีองค์ประกอบความผิดร่วมกันประการหนึ่งว่า "ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล..." ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุแห่งการกระทำความผิดกฎหมายทั้งสองมาตรานี้ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองคืออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลนั่นเอง มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ดังนั้น ผู้เสียหายคือบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดทั้งสองมาตรานี้ตามมาตรา 2 (4) แห่ง ป.วิ.อ. จึงได้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เยาว์ทั้งสองในขณะที่จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำความผิด หาใช่ตัวผู้เยาว์คือโจทก์ร่วมทั้งสองไม่

ขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 และมาตรา 20 และผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลฎีกาจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมทั้งสองมีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก