สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 42 ถ้าบุคคลใดได้เลือกเอาถิ่นใด โดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใด ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้น  


 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2558 คำร้องขอของผู้ร้องระบุแต่แรกว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงค์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทหลายคนส่งจดหมายไปที่บ้านดังกล่าว ทั้งคดียักยอกทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยืนยันที่อยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านรับว่า ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ที่บ้านดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น การที่พนักงานเดินหมายปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านเพื่อแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนตามทะเบียนราษฎร์ที่มีชื่อผู้ร้อง โดยผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว เมื่อกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ และทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และเมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านแล้ว กรณีต้องย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2551 ขณะทำสัญญาจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและใช้ตำแหน่งดังกล่าวประกันผู้ต้องหา ระบุในสัญญาประกันว่าที่อยู่ของจำเลยอยู่ที่อาคารรัฐสภา กับแสดงบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยแก่โจทก์ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือรับรอง จึงถือว่าจำเลยได้เลือกเอาอาคารรัฐสภาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยใช้สำหรับการติดต่อกับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าปรับแก่โจทก์ โดยส่งไปที่อาคารรัฐสภาและบ้านเลขที่ 62/2 โดยมีผู้รับไว้แทน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยได้ชื่อว่าผิดนัด ต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2550 ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว การที่จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์อุทธรณ์ เรือนจำพิเศษมีนบุรีจึงหาใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ไม่ ทั้งการที่จำเลยต้องอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีก็มิใช่เป็นการย้ายถิ่นที่อยู่ของจำเลยด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ด้วย และกรณีของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยการที่บุคคลใดเลือกเอาถิ่นใดโดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใดอันจะถือว่าเรือนจำพิเศษมีนบุรีเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 อีกเช่นกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์นั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยอันมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5944/2549 เมื่อพิจารณาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตที่ระบุว่า สถานที่ส่งใบเรียกเก็บเงินคือที่ทำงานของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และอยู่ในเขตศาลชั้นต้นแสดงว่าจำเลยได้เลือกเอาที่ทำงานของจำเลยโดยมีเจตนาชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีอำนาจยื่นคำฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7624/2547 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ที่ตั้งที่ทำการจำเลยของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นหลักแหล่งที่ทำการงานตามปกติของจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะมีที่อยู่แยกต่างหากจากภูมิลำเนาจำเลยที่ 1 แต่ในการติดต่อกับโจทก์จำเลยที่ 2 ใช้ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่ติดต่อทุกครั้ง กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้เลือกเอาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นภูมิลำเนาสำหรับการติดต่อกับโจทก์โดยเฉพาะ ถือได้ว่าที่ทำการของจำเลยที่ 1 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 2 ใช้สำหรับการติดต่อกับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และแจ้งบังคับจำนองไปยังที่ตั้งที่ทำการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว