สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61


 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560 สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558 ส. เป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของคนร้ายโดยตรง ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 และมาตรา 30 และหาก ส. ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ผู้สืบสันดานและภริยาของ ส. ย่อมมีอำนาจจัดการแทน ส. ได้ แต่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ใน มาตรา 5 (2) แห่ง ป.วิ.อ. ว่า ผู้สืบสันดานและภริยาจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้วได้ใจความว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้คำบรรยายฟ้องดังกล่าวจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกก็ไม่ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ และแม้ต่อมาในปี 2552 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งแสดงว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง เมื่อในขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2552 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 62 บัญญัติว่าบุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 ดังนั้น ผลแห่งความตายเพราะสาบสูญจึงมีเช่นเดียวกับการตายธรรมดาคือสิ้นสภาพบุคคลและเกิดผลตามมาในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาท รวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่ความรับผิดที่ผู้ตายจะต้องได้รับนับแต่มีคำสั่งศาลแสดงว่าเป็นคนสาบสูญ ทั้งตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 การฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน ดังนั้น การที่ ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญจึงมีผลเท่ากับ ล. ถึงแก่ความตายเมื่อ ล. เป็นสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์จำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวแม้ไม่มีศพที่จะต้องจัดการก็ต้องจ่ายเงินค่าจัดการศพ