สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 65 นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น


 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2554 ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) คำว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สำหรับนิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่น ดังบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 65 โจทก์เป็นคณะกรรมการสำนักสงฆ์วัดหนองเวียนโสภาศรัทธารามหรือวัดหนองเวียนวัฒนาราม เป็นเพียงกลุ่มบุคคลซึ่งรวมตัวกันโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นคู่ความได้ เมื่อตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ากรรมการโจทก์คนใดได้ฟ้องคดีในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2542 โจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิค ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 อนุญาตให้มิซซังโรมันคาธอลิคคณะหนึ่ง ๆ มีฐานะเป็นหมู่คณะแยกต่างหาก เพื่อให้มีอำนาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยกฎหมายใช้ศัพท์ว่า บริษัท ในความหมายที่ว่า หมู่คณะแยกต่างหากจากกัน ดังที่ต่อมาเรียกว่า นิติบุคคล หาได้มีความหมายว่าบริษัทจำกัดไม่ ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 65 บัญญัติว่า นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือประมวลกฎหมายอื่น ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น มีอำนาจทำสัญญาเช่า และฟ้องจำเลยได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658 - 8686/2542 ตามบทบัญญัติมาตรา 65, 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกมิซซังโรมันคาธอลิคว่าไม่เป็นนิติบุคคล แต่ได้บัญญัติรับรองไว้ว่านิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง

โจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิคเป็นนิติบุคคลอยู่ก่อนแล้วตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษยังใช้บังคับจนปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายอื่นฉบับหนึ่งตามความหมายของ ป.พ.พ.มาตรา 65 โจทก์จึงย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอยู่ต่อไป