สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 75 ถ้ากรณีตามมาตรา 74 เป็นเหตุให้ไม่มีผู้แทนของนิติบุคคลเหลืออยู่หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่เหลืออยู่มีจำนวนไม่พอจะเป็นองค์ประชุม หรือไม่พอจะกระทำการอันนั้นได้ หากกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งของนิติบุคคลนั้น มิได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่นให้นำความในมาตรา 73 มาใช้บังคับเพื่อตั้งผู้แทนเฉพาะการโดยอนุโลม


 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15198/2551 ผู้ร้องคัดค้านได้ร่วมก่อตั้งบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ม. โดยผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ถือหุ้น การที่ผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการใดๆ กับบริษัท ม.ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเครือญาติและตนเองในบริษัทดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทล ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่กรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดย่อมร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการในเรื่องการทวงถามค่าใช้จ่ายส่วนกลางตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทลได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 75

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2550 การขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามมาตรา 75 และหากปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้น่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วย กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการบริษัทเอง ซึ่งหากผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาของบริษัทก็สามารถดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายได้อยู่แล้วตามมาตรา 1169 กรณีตามคำร้องมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลง หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการของบริษัท ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคลในการอันใดที่จะทำให้ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวนิติบุคคลได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2535 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 7 และมาตรา 39 กำหนดให้เทศบาลตำบลเมืองพลโจทก์เป็นทบวงการเมือง มีคณะเทศมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72 และนายกเทศมนตรีมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 ที่จะแสดงให้ปรากฏซึ่งความประสงค์ของโจทก์ที่เป็นนิติบุคคล การฟ้องคดีนั้นเป็นการบริหารกิจการของเทศบาลอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีบทบัญญัติใน พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 กำหนดไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการขออนุมัติผู้ใดก่อน นายกเทศมนตรีจึงมีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ที่จะฟ้องคดีจำเลยได้ ในเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์จำเลยได้มีข้อตกลงเป็นการตอบแทนกันให้จำเลยสร้างโรงภาพยนตร์ในที่ดินของโจทก์โดยให้โรงภาพยนตร์ตกเป็นของโจทก์แต่จำเลยมีสิทธิเช่ามีกำหนด 20 ปี การที่มีข้อตกลงเป็นการตอบแทนกันดังกล่าวเป็นเรื่องของสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาข้อสัญญาต่างตอบแทนกันเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่คู่กรณีจึงต้องผูกพันกันตามสัญญาที่มีลักษณะต่างตอบแทน เมื่อระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องมานั้นอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยยังมีสิทธิใช้ประโยชน์ในโรงภาพยนตร์ตามสัญญา จำเลยก็ต้องมีหน้าที่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา การที่ข้อตกลงในสัญญาจะเรียกว่าเป็นค่าเช่าหรืออย่างไรนั้นไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงไปให้ข้อตกลงที่มีอยู่ต่อกันขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใดในเมื่อจำเลยไม่ชำระตามข้อตกลงโจทก์ก็มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยชำระได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงชื่อที่จะเรียกว่าเป็นค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญา