สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 77 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม  


 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2554 ในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์สองคัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท เกินกว่าวงเงินตามมติของโจทก์ดังกล่าวถึง 541,970 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ และทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์จะต้องจ่ายเงินซื้อรถยนต์ในราคาที่สูงเกินไป แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปใช้อย่างอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นการไม่ประหยัดไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้างว่าโจทก์ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ยังขายรถยนต์ทั้งสองคัน โดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์จะขายรถยนต์ทั้งสองคันโดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนก็ไม่อาจทำให้ความเสียหายของโจทก์กลับเป็นไม่มีความเสียหายอีกได้ และการให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ขายรถยนต์ทั้งสองคัน ผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 ถึง 823 เท่านั้นโดยมิได้ทำให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นความรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนต่อโจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2552 จำเลยเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มาตรา 43 ซึ่งความประสงค์ของจำเลยย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง จำเลยออกประกาศสอบราคาซื้อรถยนต์ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 โจทก์ยื่นคำเสนอราคารถยนต์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับ ส. ประธานกรรมการบริหารของจำเลย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2544 ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์ จำเลย กับ ส. ตัวแทนของจำเลยต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 การออกประกาศซื้อรถยนต์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการโดย ส. ซึ่งเป็นตัวแทน เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจที่ตัวแทนทำได้ แต่เมื่อมีมติที่ประชุมจำเลยยกเลิกความต้องการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2544 ย่อมเป็นเรื่องที่ตัวแทนทำการอันเกินอำนาจตัวแทน กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ซึ่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวจะใช้บังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกับจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าในทางปฏิบัติของจำเลยทำให้โจทก์มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการซื้อขายรถยนต์คันพิพาทอยู่ในขอบอำนาจของ ส. ตัวแทนของจำเลยหรือไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2550 การที่ น. ขับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดชัยนาทตามคำสั่งของ พ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท พ. และเป็นนายจ้างของ น. เพื่อพา พ. ไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายกรณีที่ พ. เคยขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนบริษัท พ. เป็นการไปเพื่อตกลงชดใช้ค่าเสียหายประนีประนอมยอมความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สำหรับการทำละเมิดของ พ. ที่บริษัท พ. อาจต้องรับผิดในความเสียหายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 77, 425, 427 การไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายของ พ. เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ดังนั้น แม้ น. จะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างแต่ก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง แต่ในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง น. และ พ. ถึงแก่ความตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงไม่ได้เกิดในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งไม่ใช่เหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง การที่ น. และ พ. ถึงแก่ความตายจึงถือไม่ได้ว่าเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ซึ่งเป็นนายจ้าง น. จึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 825/2548 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดที่มีโทษถึงขั้นไล่ออก เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างและรับโจทก์กลับเข้าทำงาน มิฉะนั้นให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นสิทธิในทางแพ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้อาศัยมูลความผิดทางอาญา แม้จำเลยทั้งสองจะให้การว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ เพราะโจทก์กระทำความผิดอาญาโดยทำร้ายร่างกาย พ. และถูกศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษไปแล้ว ก็ไม่ทำให้คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวจะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางให้โจทก์นำสืบถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่โจทก์ทำร้าย พ. และนำมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้จงใจทำผิดข้อบังคับและไม่เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด

แม้จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) แต่จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว