สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203  ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

 

วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2562

ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่า จำเลยผู้กู้จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการ ก็มิได้ระบุว่า การก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อใดและจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระหว่างก่อสร้างดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่หยุดการก่อสร้างแล้ว กรณีจึงไม่มีระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดลงไว้แน่นอน ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ว่าเมื่อใดจะมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเพียงพอที่จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยากจะมองเห็นผลสำเร็จได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด ในเมื่อพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาหุ้นส่วน และบริษัท ธ. ที่ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นร่วมกันเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การชำระเงินกู้ยืมคืนตามข้อตกลงดังกล่าวจึงถือได้ว่าไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้กันไว้แน่นอน เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมอยู่ในตัวแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19385/2556

โจทก์ทำใบสั่งซื้อรถรวม 26 คัน จากจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถ 26 คัน แก่สำนักงานศาลยุติธรรม กำหนดส่งมอบรถภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้โจทก์ 2 งวด งวดแรก 16 คัน งวดที่ 2 อีก 5 คัน และโจทก์ได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 แต่การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 222 แบ่งความเสียหายออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่ง เป็นความเสียหายเช่นที่ปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ กรณีที่สองตามวรรคสองเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปขายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 16 คัน โดยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีการระบุวันเวลาส่งมอบรถที่แน่นอนวันใด คงปรากฏตามใบสั่งซื้อว่า "เครดิตการชำระเงิน 30 วัน นับแต่วันส่งมอบรถยนต์" จึงเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงส่งมอบรถไม่ได้กำหนดกันไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลัน และจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลันเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่ค้าง 10 คัน โดยมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาผ่าน ม. ขอรับรถภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 แต่โจทก์ได้รับแจ้งกลับว่าจำเลยที่ 2 หารถส่งมอบให้ได้เพียง 5 คัน ที่เหลือต้องไปรับเดือนหน้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันเวลาภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จึงขอให้ดำเนินการช่วยเหลือโจทก์โดยด่วน เท่ากับโจทก์กำหนดเวลาแน่นอนให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจความหมายตามหนังสือฉบับดังกล่าวได้ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมตามสัญญา แม้ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 จะมีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประมาณการสั่งซื้อผิดพลาด ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งมอบรถให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และการที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งโดยสำทับว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากค่าปรับของสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และกำชับว่าให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการส่งมอบรถโดยด่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังในความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 คงเพิกเฉย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถครั้งสุดท้าย มิใช่ผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งมอบรถได้ ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระโดยส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ย่อมคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นก่อนที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาว่า โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับตามสัญญาอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556

สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม

 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร