สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

หนังสือมอบอำนาจต้องปิดอากรแสตมป์เท่าไหร่

การมอบอำนาจจัดการเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อปรากฏว่า  ท่านผู้อ่านไม่สามารถเข้าไปจัดการงานด้านเอกสารกับคู่สัญญากับท่านได้  จำเป็นต้องมีการมอบอำนาจ  ซึ่งเมื่อมีการมอบอำนาจจะต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจเป็นหลักฐานในการมอบอำนาจในครั้งนั้นๆ  โดยแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจนั้น  ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาในเว็บไซต์ดาวน์โหลดและปริ้นออกเป็นเอกสารได้  หรือท่านจะซื้อจากร้านค้าต่างๆ  ที่มีเป็นเอกสารแบบฟอร์มก็ใช้ได้เช่นกัน 

เมื่อมีการดาวน์โหลดหรือซื้อหนังสือมอบอำนาจมาแล้ว  ท่านต้องกรอกข้อความในช่องอำนาจให้ครบถ้วนเสียก่อนมอบให้ผู้รับมอบอำนาจได้จัดการงานแทนท่าน  มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาได้  (  มีบทความอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้องท้ายบทความ  เกี่ยวกับการกรอกหนังสือมอบอำนาจลอยไว้) 

เมื่อมอบอำนาจแล้ว  มีประเด็นปัญหาว่า  ท่านจะต้องปิดอากรแสตมป์เท่าไหร่จึงจะถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด 

คำตอบ  ท่านต้องดูว่า  กิจการที่มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปจัดการแทนนั้น  เป็นการจัดการสิ่งเดียวอย่างเดียวแล้วเสร็จไป  หรือต้องการให้ทำกิจการหลายสิ่งหลายอย่างรวมอยู่ในหนังสือมอบอำนาจนั้น ๆ  ซึ่งมีผลต่อการปิดอากรแสตมป์ด้วย  ดังนั้น  การปิดอากรแสตมป์จึงต้องปิดจำนวน  10  บาท  เมื่ออำนาจให้ไปจัดการสิ่งเดียวอย่างเดียว  หรือหากมอบอำนาจให้ไปทำกิจการหลายอย่างก็ต้องปิดอากรแสตมป์  30  บาท 

เมื่อปิดอากรแสตมป์แล้วจะต้องขีดฆ่า ที่อากรแสตมป์ที่ปิดนั้นด้วย  จึงจะถือว่าเป็นการปิดอากรแสตมป์ที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ประมวลกฎหมายรัษฎากร  มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2545

ตามหนังสือมอบอำนาจระบุข้อความไว้โดยแจ้งชัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้นาง ก. หรือนาย ส. คนใดคนหนึ่งกระทำการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันคดีนี้เท่านั้น ทั้งกิจการที่นาง ก. หรือนาย ส. กระทำเป็นกิจการเดียวกันคือฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เพียงครั้งเดียว หาได้กระทำกิจการแยกกันต่างคนต่างฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งสองหรือฟ้องบุคคลอื่นอันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้นาย ส. ผู้รับมอบอำนาจคนหนึ่งเป็นผู้แต่งตั้งทนายความและนาง ก. ผู้รับมอบอำนาจอีกคนหนึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ก็ตาม ก็เป็นที่เห็นได้ว่ากิจการที่ผู้รับมอบอำนาจทั้งสองกระทำเป็นกิจการเดียวกันคือฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ต่อจำเลยทั้งสอง จึงเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7 (ก) เมื่อโจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจจำนวน 30 บาท จึงสมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7 (ก) แล้ว หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118

___________________________

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายบรรเจิด เย็นมนัส ดำเนินคดีแทน และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๘๙,๕๔๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ไม่ผิดสัญญา โดยโจทก์มิได้ถือกำหนดระยะเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ โจทก์รับเงินค่างวดค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ชำระไม่ตรงงวดแต่กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ยึดรถคืนโดยทำร้ายร่างกายจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ชำระเงินครั้งแรกเป็นเงิน ๔๑,๑๒๑.๔๙ บาท และผ่อนชำระ ๗ งวด พร้อมเบี้ยปรับเป็นเงิน ๗๒,๔๗๑ บาท โจทก์ประมูลรถได้เงินจำนวน ๒๐๙,๕๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๒๓,๑๔๒.๔๙ บาท โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ต้องวินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจที่นายบรรเจิด เย็นมนัส ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มอบอำนาจช่วงให้นางกรรณิกา สุขสุดประเสริฐ หรือนายสมศักดิ์ รุ่งรัตนประเสริฐ ฟ้องจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ. ๓ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามกฎหมายได้หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๓ ระบุข้อความไว้โดยแจ้งชัดว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) โจทก์ โดยนายบรรเจิด เย็นมนัส ผู้รับมอบอำนาจขอมอบอำนาจช่วงให้แก่นางกรรณิกา สุขสุดประเสริฐ หรือนายสมศักดิ์ รุ่งรัตนประเสริฐ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายสมชาย สัตยาภรณ์ นายธีระวัฒน์ ชูสอน เป็นจำเลยต่อศาลฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ ค้ำประกัน เพื่อการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจ (ที่ถูกน่าจะเป็น เพื่อการนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจ) ดังจะกล่าวต่อไปนี้ด้วยคือ ฯลฯ ข้อความที่ระบุไว้เช่นนี้เป็นการมอบอำนาจให้นางกรรณิกาหรือนายสมศักดิ์คนใดคนหนึ่งกระทำการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสองฐานผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันคดีนี้เท่านั้น กิจการที่นางกรรณิกาหรือนายสมศักดิ์กระทำเป็นกิจการเดียวกันคือฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หาได้กระทำกิจการแยกกันต่างคนต่างฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งสองหรือฟ้องบุคคลอื่นอันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้นายสมศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจช่วงคนหนึ่งเป็นผู้แต่งตั้งทนายความและนางกรรณิกาผู้รับมอบอำนาจช่วงอีกคนหนึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ก็ตาม ก็เป็นที่เห็นได้ว่ากิจการที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทั้งสองกระทำเป็นกิจการเดียวกันคือฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ต่อจำเลยทั้งสองเท่านั้น จึงเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์เพียง ๑๐ บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ ๗ (ก) เมื่อโจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๓ จำนวน ๓๐ บาท จึงสมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐๔ และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ ๗ (ก) แล้ว หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๓ ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ จึงฟังได้ว่าโจทก์โดยนายบรรเจิดผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงให้แก่นายสมศักดิ์ฟ้องคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษายืน.

 

บทความที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้  คลิก
ลงลายมือชื่อแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ  คลิก
ความรู้กฎหมาย