สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ไม่รู้ว่าทรัพย์ที่รับไว้มาจากการกระทำความผิด ผิดฐานรับของโจรหรือไม่

การกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น  ผู้กระทำจะต้องรู้ว่า  ทรัพย์ที่รับซื้อไว้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด  หากว่าผู้ซื้อรับไม่รู้ว่า  ทรัพย์ที่รับซื้อไว้นั้นได้มาจากการกระทำความผิดแล้ว  ผู้รับซื้อไว้ย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร  เช่น  นาย  ก  รับซื้อรถจักรยานยนต์จากนาย  ข  โดยนาย ข  อ้างว่า  เป็นรถจักรยานยนต์ของตนเองแต่ต้องการขาย  ซึ่งความจริงแล้ว  นาย  ข  ลักรถจักรยานยนต์ของนาย  เอ  มาเมื่อ  2  วันก่อน  เช่นนี้  ขณะที่นาย  ก  รับซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าว  นาย  ก  ไม่ทราบได้ว่า  รถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์ของนาย  เอ  ซึ่งนาย  ข  ได้มาจากการลักทรัพย์  แม้นาย  ก  จะรู้ในภายหลังว่า  รถจักรยานยนต์เป็นของนาย  เอ  ซึ่งเป็นทรัพย์ที่นาย  ก  ลักทรัพย์มา  นาย  ก  ไม่มีความผิดฐานรับของโจร  เป็นต้น 
ดังนั้น  การรู้ว่าทรัพย์ที่รับซื้อไว้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด  จึงเป็นเงื่อนไขที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรู้ขณะรับของโจร เมื่อไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจึงไม่มีความผิดฐานรับของโจร

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  357  ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


วรรคสอง  ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท


วรรคสาม  ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท 

 

          มาตรา 59  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา


วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น


วรรคสาม  ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้


วรรคสี่  กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่


วรรคห้า  การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4102/2535

 

คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เมื่อนำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับจำนำอาวุธปืนของผู้เสียหายไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา คดีก็รับฟังลงโทษจำเลยฐานรับของโจรไม่ได้.
___________________________

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันลักเอาปืนสั้น 1 กระบอกของผู้เสียหายไป หรือมิฉะนั้นได้ร่วมกันรับเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายไว้ โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง นายเจิด เป้าทรง และนายบน ทองไทยจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 51/2534 ของศาลชั้นต้นได้ร่วมกันลักเอาอาวุธปืนพกสั้น 1 กระบอก ราคา 3,800 บาท ของผู้เสียหายไปแล้วนำไปจำนำไว้กับจำเลยในราคา 2,000 บาท ต่อมาจำเลยได้นำไปฝากไว้ที่บ้านนายบน และผู้เสียหายไปตามรับคืนมาได้โดยจ่ายเงินให้จำเลยไป 2,000 บาท ปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรนั้นเห็นว่า คดีปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยรับจำนำอาวุธปืนไว้เพราะนายเจิดและนายบนยืนยันว่า เป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของนายเจิด ต่อมาเมื่อผู้เสียหายกับนายเจิดไปหาจำเลยที่บ้านเพื่อขออาวุธปืนคืนนั้น จำเลยก็บอกว่านำไปฝากไว้ที่บ้านนายบนเพื่อคืนให้ผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายก็จ่ายเงินที่จำเลยรับจำนำไว้ 2,000 บาท ให้จำเลยแล้วไปเอาคืนจากนางสาวสมคิด ทองไทยซึ่งเป็นบุตรนายบนและอยู่ที่บ้านนายบน ส่วนนางสาวสมคิดพยานโจทก์เบิกความฟังได้ตรงกัน ทั้งยืนยันว่าจำเลยนำอาวุธปืนมาฝากไว้ให้ผู้เสียหายเมื่อจำเลยทราบจากชาวบ้านว่าอาวุธปืนของผู้เสียหายถูกลักไปอันฟังได้เจือสมกันกับคำเบิกความของจำเลย การที่จำเลยนำไปฝากไว้ที่บ้านนายบนและขอเงินคืนจากนายบนไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะนายเจิดกับนายบนเป็นผู้นำอาวุธปืนมาจำนำไว้กับจำเลยชั้นจับกุมและสอบสวนตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทไพโรจน์ พิลาพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ จำเลยก็ปฏิเสธมาตลอด พฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่าจำเลยรับจำนำอาวุธปืนของผู้เสียหายไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมาซึ่งคดีอาญานั้นโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เมื่อนำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด คดีก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานรับของโจรและพิพากษายกฟ้องชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.