สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การรับบุตรบุญธรรม

                บางคนมีบุตรยาก ทำให้เกิดการคิดวิธีการแก้ไขทางวิทยาศาสตร์บ้างและทางออกทางอื่นบ้าง และมีหลายคนใช้วิธีการแก้ปัญหาอยากมีบุตรด้วยการนำบุตรของบุคคลอื่นที่ไม่ใช้บุตรของตนมาเลี้ยง อาจจะเป็นบุตรของญาติพี่น้อง บุตรของบุคคลที่ไม่รู้จักกันมาก่อน บุตรของเพื่อน เป็นต้น เมื่อได้เลี้ยงดูบุตรดังกล่าวดังเช่นบุตรของตนเองแล้ว ย่อมเกิดความผูกพันด้านทางจิตใจเสมือนหนึ่งว่าเป็นบุตรของตนเอง และต้องการให้มีผลทางด้านกฎหมาย จึงมีปัญหาในประเด็นนี้ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้บุตรดังกล่าวเป็นบุตรของตนเองโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการรับบุตรบุญธรรม
การรับบุตรบุญธรรมนั้น กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/19 ถึง มาตรา 1598/37
มาตรา 1598/19  บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี
มาตรา 1598/20  การรับบุตรบุญธรรม ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย
มาตรา 1598/21  การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง
ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมตามวรรคหนึ่งก็ได้
มาตรา 1598/22  ในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม ถ้าผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบิดาและมารดา ถ้าสถานสงเคราะห์เด็กไม่ให้ความยินยอม ให้นำความในมาตรา 1598/21 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1598/23  ในกรณีที่ผู้เยาว์มิได้ถูกทอดทิ้ง แต่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก บิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดาในกรณีที่มารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง จะทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมแทนตนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้นำความในมาตรา 1598/22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หนังสือมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งจะถอนเสียมิได้ตราบเท่าที่ผู้เยาว์ยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้น
มาตรา 1598/24  ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนสถานสงเคราะห์เด็กในการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1598/22 หรือมาตรา 1598/23 จะรับผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลหรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของผู้นั้นแทนการให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เด็ก
มาตรา 1598/25  ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น
มาตรา 1598/26  ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยจะต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมอยู่แล้วและมิให้นำมาตรา 1598/21 มาใช้บังคับ
มาตรา 1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน
มาตรา 1598/28  บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว
ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 2 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1598/29  การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น
มาตรา 1598/30  ถ้าบุตรบุญธรรมซึ่งไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดานตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรมเพียงเท่าที่ทรัพย์สินนั้นยังคงเหลืออยู่ภายหลังที่ชำระหนี้ของกองมรดกเสร็จสิ้นแล้ว
ห้ามมิให้ฟ้องคดีเรียกร้องสิทธิตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบุตรบุญธรรมหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่บุตรบุญธรรมตาย
มาตรา 1598/31  การเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้วจะเลิกโดยความตกลงกันในระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมเมื่อใดก็ได้
ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา และให้นำมาตรา 1598/20 และมาตรา 1598/21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1598/21 วรรคสอง มาตรา 1598/22 มาตรา 1598/23 มาตรา 1598/24 หรือมาตรา 1598/26 วรรคสอง ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมให้กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ
การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
มาตรา 1598/32  การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451
มาตรา 1598/33  คดีฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมนั้น เมื่อ
(1) ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
(2) ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ ถ้าบุตรบุญธรรมกระทำการดังกล่าวต่อคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
(3) ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีหรือคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงและการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษอาญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
(4) ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้
(5) ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้
(6) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินสามปี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
(7) ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดา และการกระทำนั้นเป็นการละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 1564 มาตรา 1571 มาตรา 1573 มาตรา 1574 หรือมาตรา 1575 เป็นเหตุให้เกิดหรืออาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
(8) ผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ใดถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด และเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไป บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
(9) (ยกเลิก)  

                มาตรา 1598/34  ห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกการนั้น หรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น
มาตรา 1598/35  การฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ให้บิดามารดาโดยกำเนิดเป็นผู้มีอำนาจฟ้องแทน แต่ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วบุตรบุญธรรมฟ้องได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใด
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง อัยการจะฟ้องคดีแทนบุตรบุญธรรมก็ได้
มาตรา 1598/36  การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล ย่อมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่ได้จดทะเบียนแล้ว
มาตรา 1598/37  เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือมีการเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมีอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมตาย หรือนับแต่เวลาที่จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1598/31 หรือนับแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม เว้นแต่ศาลเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น
ในกรณีที่มีการตั้งผู้ปกครองของผู้เป็นบุตรบุญธรรมไว้ก่อนผู้รับบุตรบุญธรรมตาย หรือก่อนการเลิกรับบุตรบุญธรรม ให้ผู้ปกครองยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป เว้นแต่บิดามารดาโดยกำเนิดจะร้องขอ และศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอเป็นผู้มีอำนาจปกครอง
การเปลี่ยนผู้ใช้อำนาจปกครองตามวรรคหนึ่งหรือผู้ปกครองตามวรรคสองไม่เป็นเหตุเสื่อมสิทธิที่บุคคลภายนอกได้มาโดยสุจริตก่อนผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือก่อนจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม
ให้พนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเป็นประการอื่นตามวรรคหนึ่ง

                คุณสมบัติของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม
อย่างน้อย 15 ปี
2. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
3. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดา และมารดา หรือผู้ปกครอง
4. ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจาก
คู่สมรสก่อน
5. ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก
ในขณะเดียวกันไม่ได้เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993/2537 ขณะที่ บ. จดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม บ.มีอายุ 25 ปี ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1582 ที่กำหนดว่าผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่น้อยกว่า30 ปี ส่วนการที่ บ. รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมนั้นโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของ บ. ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย ขัดต่อ ป.พ.พ.บรรพ 5 เดิม มาตรา 1584 การจดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมของ บ. ย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของ บ.
เมื่อเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว มีสิทธิหน้าที่อย่างไร
บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา และให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว
การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น
การเลิกรับบุตรบุญธรรม
ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้วจะเลิกโดยความตกลงกันในระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมเมื่อใดก็ได้
เหตุที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเลิกรับบุตรบุญธรรมได้นั้น มีดังนี้
(1) ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
(2) ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ ถ้าบุตรบุญธรรมกระทำการดังกล่าวต่อคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
(3) ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีหรือคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงและการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษอาญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
(4) ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้
(5) ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้
(6) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินสามปี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
(7) ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดา และการกระทำนั้นเป็นการละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 1564 มาตรา 1571 มาตรา 1573 มาตรา 1574 หรือมาตรา 1575 เป็นเหตุให้เกิดหรืออาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
(8) ผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ใดถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด และเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไป บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
แต่ทั้งนี้ ทั้ง 8 เหตุดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมีอายุความในการฟ้องร้องคดี คือ ห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกการนั้น แต่ 1 ปี ต้องไม่เกินไปกว่า 10 ปี นับแต่เหตุแห่งการฟ้องคดีได้เกิดขึ้น
ขอห้ามระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมคือ ห้ามทำการสมรสกัน หากฝ่าฝืนย่อมทำให้การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไป ตามมาตรา 1598/32