สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

กู้ยืมเงินแต่ไม่ได้เจตนาทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

เมื่อมีการกู้ยืมเงินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้มักจากเรียกให้ลูกหนี้หาหลักประกันมาเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้อาจเรียกให้แก่ลูกหนี้ขายฝากที่ดิน แต่ลูกหนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากเลย เมื่อเป็นกรณีเช่นนี้ ทางกฎหมายเรียกว่า นิติกรรมอำพราง มีผลทำให้สัญญาขายฝากที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดินเป็นโมฆะ และถือว่าสัญญาขายฝากเป็นสัญญากู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2561

ดอกเบี้ยที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นเงิน 2,100 บาท หรือเท่ากับ 25,200 บาท ต่อปี เมื่อนำไปรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้และแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้น ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง

แม้การขายฝากที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนสัญญาขายฝาก เป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปก่อนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว ประกอบกับโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้รู้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกันจริง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวง ย่อมได้รับคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ในราคา 95,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 71243 ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ไว้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2

 

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายเบิ้มและนำโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นประกันเงินกู้ ต่อมาโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 70,000 บาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้นายเบิ้มโดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ไม่ต้องทำสัญญากู้ แต่ต้องทำสัญญาขายฝากโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 บาท ต่อเดือน และโจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 เดือนละ 2,100 บาท เป็นเวลา 19 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ก่อนจะไปทำสัญญาขายฝากโจทก์มาขอกู้ยืมเงินเพื่อจะนำเงินไปชำระหนี้นายเบิ้ม 70,000 บาท เพราะนำโฉนดที่ดินวางเป็นประกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงให้ยืมและให้โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินโดยกำหนดราคาสินไถ่ 95,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนรายละเอียดด้วยดินสอว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 บาท ต่อเดือนเห็นว่า เมื่อคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 70,000 บาท ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นดอกเบี้ยเดือนละ 2,100 บาท สัญญาขายฝากที่ดินกำหนดไถ่ถอน 1 ปี รวมดอกเบี้ย 12 เดือน เป็นเงิน 25,200 บาท เมื่อรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ได้คิดดอกเบี้ยเงินกู้อัตราร้อยละ 3 จากต้นเงิน 70,000 บาท จริง การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือนจึงเป็นลักษณะของการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่นำสืบมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้นมิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น เช่นเดียวกับที่โจทก์เคยกู้ยืมเงินนายเบิ้มและนำโฉนดที่ดินวางเป็นประกัน สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง แม้การขายฝากที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนสัญญาขายฝากเป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปก่อนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว ประกอบกับโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้รู้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกันจริง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงย่อมได้รับคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร