สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ขายทรัพย์สินของผู้เยาว์ทำให้ไม่ผูกพันผู้เยาว์

ในบางครั้ง  ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองของผู้เยาว์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่บุตรตั้งแต่ผู้เยาว์ยังเล็กๆ  ทำให้เอกสารทางทะเบียนที่ปรากฏในระบบของสำนักงานที่ดินว่า  บุตรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว  ดังนั้น  การขายที่ดินที่มีชื่อผู้เยาว์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นมีกฎหมายกำหนดวิธีการขายทรัพย์สินของผู้เยาว์เอาไว้เป็นการเฉพาะ  นอกจากนั้น  ไม่ใช่แต่เพียงการขายทรัพย์สินของผู้เยาว์  ยังมีนิติกรรมอย่างอื่น  เช่น  ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้  รวมถึงการเช่า  ฯลฯ  เป็นต้น   ซึ่งนิติกรรมเหล่านี้ต้องทำตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ด้วยเช่นกัน  จึงจะทำให้นิติกรรมดังกล่าวสมบูรณ์ตามกฎหมาย 

จึงมีคำถามต่อไปว่า  หากว่า  ผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจปกครองขายทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือวิธีการทางกฎหมายแล้ว  จะมีผลอย่างไร  ซึ่งในประเด็นนี้  กฎหมายไม่ได้กำหนดผลของการฝ่าฝืนเงื่อนไขเอาไว้  แต่ได้มีการตัดสินโดยศาลฎีกาได้วางหลักเกณฑ์เอาไว้ว่า  หากผู้ปกครองได้ขายทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยฝ่าฝืนเงื่อนไขแล้ว  ทำให้นิติกรรมนั้นไม่ผูกพันผู้เยาว์  แต่ไม่ทำให้ตกเป็นโมฆะกรรมและโมฆียกรรม  นั้นหมายความว่า  ผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องรับผิดชอบต่อผู้ซื้อทรัพย์สินของผู้เยาว์หรือคู่กรณีอีกฝ่ายของสัญญานั้นๆ  ด้วยตนเอง 

หลักเกณฑ์ที่กำหนดเงื่อนไขในการทำนิติกรรมคือ  จะต้องได้รับความยินยอมจากศาลให้ขายทรัพย์สินของผู้เยาว์หรือได้รับการอนุญาตจากศาลให้ทำนิติกรรมนั้นๆ  กับบุคคลภายนอกได้  ซึ่งนิติกรรมใดบ้างที่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองจะต้องขออนุญาตจากศาลให้ยินยอมให้ทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ได้  ซึ่งได้กำหนดเอาไว้ในมาตรา  1574  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ดังนี้

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    มาตรา 1574  นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา  ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีประนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

คำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561

ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง

___________________________

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า แม้นางสาววาณี ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านทั้งสามเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (13) แต่การขออนุญาตดังกล่าวไม่ใช่แบบของนิติกรรม การเสนอข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ อันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตามมาตรา 172 เพียงแต่มีผลไม่ผูกพันผู้เยาว์ทั้งสามเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ทั้งสามเท่านั้นที่สามารถยกความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามข้อเสนอ และภายหลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องได้สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คจำนวน 3 ฉบับ ในนามของผู้คัดค้านทั้งสามเพื่อชำระหนี้ และผู้คัดค้านทั้งสามนำแคชเชียร์เช็คไปเรียกเก็บเงินแล้ว ถือว่าผู้ร้องยอมรับตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสามโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องตามกฎหมาย ดอกเบี้ยตามเช็คที่ให้รับผิดนับแต่วันที่มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ และอายุความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อพ้นกำหนดเวลาสามปีนับแต่เช็คทั้ง 3 ฉบับ ถึงกำหนดใช้เงินนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 อันจะเป็นเหตุในการเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดการไต่สวน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสามประการแรกว่า ผู้คัดค้านทั้งสามมีสิทธิมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า นางสาววาณีเป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ตามมาตรา 1571 ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ตามมาตรา 138 บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะกรรมหรือโมฆียะกรรมตามมาตรา 150 และ 153 คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้คัดค้านทั้งสามโดยนางสาววาณี ผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านทั้งสามบกพร่องเรื่องความสามารถในการมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสามฟังขึ้น

สำหรับปัญหาเรื่องอายุความ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านในข้อนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงใดอีก

พิพากษากลับเป็นว่าไม่เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาให้เป็นพับ