สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

คำพิพากษาในส่วนแพ่งไม่ผูกพันคู่ความในคดีอาญา

แม้ในคดีแพ่งคำพิพากษาในส่วนแพ่งจะถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม แต่การชั่งน้ำหนักของพยานหลักฐานในคดีอาญากับคดีแพ่งไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในคดีอาญาจะต้องรับผิดให้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง ส่วนในคดีแพ่งนั้นหากพยานหลักฐานในฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายนั้นย่อมชนะคดี ดังนั้นจึงไม่อาจนำการรับฟังในคดีแพ่งมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2562
ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ฉะนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบคำพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ ว่าข้อเท็จจริงมีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยมิได้สืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ

                โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 264, 265, 268

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนคดีเพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ ให้งดสืบพยานโจทก์กับจำเลย และมีคำสั่งให้นำสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10113/2558 ในคดีหมายเลขดำที่ 282/2548 หมายเลขแดงที่ 4664/2549 ของศาลแพ่งธนบุรี มาเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ววินิจฉัยว่า ในคดีแพ่งดังกล่าวที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 3 กับพวก ให้รับผิดตามสัญญาจ้างทำของนั้น ศาลฎีกายกข้อเท็จจริงที่บันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.27 และลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ที่ลงไว้ในเอกสารดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.27 ยินยอมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหักเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 กับพวก 7,128,638.31 บาท แล้วนำไปจ่ายเป็นค่าทนายความให้แก่ทนายความ เพื่อให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย และพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ชำระค่าจ้างว่าความเป็นเงิน 2,036,246.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.27 ที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเป็นเรื่องเดียวกันกับการกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายโดยประการน่าจะเกิดแก่โจทก์จากการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นเงิน 2,036,246.51 บาท ซึ่งเป็นค่าจ้างว่าความที่จำเลยฟ้องโจทก์ให้รับผิดในคดีของศาลแพ่งธนบุรีก็ผูกพันโจทก์โดยคำพิพากษาศาลฎีกาให้มีหน้าที่ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าจ้างว่าความแก่จำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ประกอบมาตรา 28 (2) จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ พยานจำเลยต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาวินิจฉัยและฟังมาในคดีแพ่ง ที่โจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน จะมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีอาญาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่ง จำเลยเป็นโจทก์ ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 3 กับพวก ให้รับผิดตามสัญญาจ้างทำของ ต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ 282/2548 หมายเลขแดงที่ 4664/2549 ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10113/2558 โดยยกข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.27 และลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ที่ลงไว้ในเอกสารดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.27 ยินยอมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยหักเงินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 กับพวกจำนวน 7,128,638.31 บาท แล้วนำไปจ่ายเป็นค่าทนายความให้แก่ทนายความ เพื่อให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่งเรื่องดังกล่าวใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย และพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ชำระค่าจ้างว่าความเป็นเงิน 2,036,246.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนี้ แม้คำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีของศาลแพ่งธนบุรี หมายเลขดำที่ 282/2548 หมายเลขแดงที่ 4664/2549 จะผูกพันโจทก์จำเลยคดีนี้ ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแพ่งดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ก็ดี ก็เป็นการผูกพันเฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น แต่คดีนี้เป็นคดีอาญา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ทั้งนี้ เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ฉะนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งธนบุรี หมายเลขดำที่ 282/2548 หมายเลขดำที่ 4664/2549 จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบคำพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ ว่าข้อเท็จจริงมีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยมิได้สืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ พยานจำเลยต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร