สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนำดอกเบี้ยมาหักเงินต้นได้

หลายๆ  ท่านที่คงเคยได้ไปกู้ยืมเงินนอกระบบบ้าง  หรือกู้ยืมเงินเพื่อนบ้าง  ซึ่งการกู้ยืมเงินอาจจะมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  ๒  ร้อยละ ๓  ต่อเดือนบ้าง  อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งเงินที่จากดอกเบี้ยไปแล้วนั้น  ท่านสามารถนำมาหักกับเงินต้นที่คงค้างได้  โดยมีเหตุผลดังนี้

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา 407  บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช ๒๔๗๕  มาตรา ๓ 
บุคคลใด
(ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ
(ข) เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราท่านบัญญัติไว้ในกฎหมาย บังอาจกำหนดข้อความอันไม่จริงในเรื่องจำนวนเงินกู้หรืออื่น ๆ ไว้ในหนังสือสัญญา หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ หรือ
(ค) นอกจากดอกเบี้ย ยังบังอาจกำหนดจะเอา หรือรับเอาซึ่งกำไรอื่นเป็นเงินหรือสิ่งของ หรือโดยวิธีเพิกถอนหนี้ หรืออื่น ๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม
ท่านว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  ลูกหนี้มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญากับเจ้าหนี้ได้  และการที่บอกเลิกสัญญากับเจ้าหนี้แล้ว  ย่อมทำให้คู่สัญญาจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม  กล่าวคือ  ลูกหนี้จะต้องคืนเงินที่ยืม  เจ้าหนี้จะต้องคืนหลักประกัน  ให้แก่กัน  แต่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า  เงินที่จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วจะทำอย่างไร   หากได้ความว่า  เงินที่จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วนั้น  เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  กล่าวคือ  เกินกว่าร้อยละ  ๑๕  ต่อปี  หรือ  ร้อยละ  ๑.๒๕  ต่อเดือน ย่อมตกเป็นโมฆะ  และต้องคืนให้แก่กันฐานะลาภมิควรได้  และมีปัญหาว่า   คืนฐานะลาภมิควรได้ต้องพิจารณาว่า  ลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่าเป็นการชำระหนี้ที่เป็นพ้นวิสัยและยังขืนชำระหนี้ต่อไปอันเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ  จะเรียกคืนไม่ได้  แต่กรณีการชำระหนี้ดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจ  จึงให้นำมาหักกับเงินต้นที่คงค้างได้  ทั้งนี้  มีคำพิพากษายืนยันไว้ดังนี้ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,645,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 183,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ให้แก่โจทก์ตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ

ให้ 10,000 บาท และให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย 2,868 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 
 

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 2,000,000 บาท ภายหลังทำสัญญาจำเลยฝากเงินเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อชำระหนี้ต้นเงินครั้งละ 5,000 บาท รวม 40 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เพียงใด โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ในการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น จำเลยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 1.3 ต่อเดือน คิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยเดือนละ 26,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านโป่ง ภายหลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนด จำเลยจึงยอมชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 26,000 บาท อีกร้อยละ 1.3 คิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยอีกเดือนละ 400 บาท นับแต่เดือนตุลาคม 2547 จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เดือนละ 26,000 บาท เรื่อยมา และผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยอีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระต้นเงิน ในวันที่ 21 มีนาคม 2551 จำเลยจึงชำระต้นเงินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท และต่อมาจำเลยผ่อนชำระต้นเงินให้โจทก์อีกเดือนละ 5,000 บาท รวม 40 เดือน เป็นเงิน 200,000 บาท จำเลยจึงยังค้างชำระต้นเงินอีก 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า ในการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นไม่มีการตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่มีข้อตกลงว่า จำเลยจะต้องชำระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยนั้นจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกัน โดยในช่วงแรกจำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละ 4,000 บาท จำเลยจึงนำเงิน 24,000 บาท โอนเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาโจทก์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเป็นเดือนละ 6,400 บาท 8,600 บาท และ 6,000 บาท ตามลำดับ จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์รวม 35 ครั้ง จำเลยไม่เคยตกลงว่าจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 1.3 ต่อเดือน นอกจากต้นเงินเดือนละ 20,000 บาท แล้วจำเลยยังได้ชำระต้นเงินให้แก่โจทก์อีกหลายครั้งรวมเป็นเงิน 956,580 บาท และเมื่อรวมกับที่จำเลยโอนต้นเงินเดือนละ 5,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์รวม 40 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นต้นเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 1,856,580 บาท จำเลยยังค้างชำระต้นเงินโจทก์เพียง 143,420 บาท เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานะของโจทก์นอกจากจะให้จำเลยกู้ยืมเงินแล้ว โจทก์ยังให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินอีก เงินค่าดอกเบี้ยจึงนับว่าเป็นสาระสำคัญที่โจทก์นำเงินออกมาให้ผู้อื่นกู้ยืม ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยไม่มีการตกลงกันเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยจึงไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในข้อนี้กลับได้ความจากจำเลยเบิกความต่อศาลว่า นางทัศนีย์บอกกับจำเลยว่า โจทก์มีการคิดดอกเบี้ยจากเงินที่ให้กู้ยืม แต่ไม่ได้บอกอัตราดอกเบี้ยไว้ จำเลยต้องไปพูดเรื่องอัตราดอกเบี้ยกับโจทก์เอง และเมื่อจำเลยไปกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้ว โจทก์บอกกับจำเลยว่าโจทก์นำเงินจากบุคคลอื่นมาให้จำเลยกู้ยืม ดังนั้น จำเลยจึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้แก่โจทก์บางส่วน ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่านอกจากโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่ให้จำเลยกู้ยืมแล้วโจทก์ยังคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยเพิ่มอีก ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ที่ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน หรืออัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายซึ่งกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งก็คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือนแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงเดือนละ 4,000 บาท 6,400 บาท 8,600 บาท และ 6,000 บาท ซึ่งเมื่อคิดคำนวณจากยอดต้นเงิน 2,000,000 บาท แล้ว ก็จะเป็นเงินค่าดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.2 ถึง 0.3 เท่านั้น แต่หากนำเงินค่าดอกเบี้ยร้อยละ 1.3 มาคิดคำนวณจากยอดต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท แล้ว ก็จะคิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 26,000 บาท ซึ่งความข้อนี้จำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หากคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.3 ต่อเดือน จากเงินต้น 2,000,000 บาท จะคิดเป็นดอกเบี้ย 26,000 บาท หากคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.3 ต่อเดือน จากต้นเงิน 2,200,000 บาท จะคิดเป็นดอกเบี้ย 28,600 บาท และหากคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.3 ต่อเดือน จากเงินต้น 1,900,000 บาท จะคิดเป็นดอกเบี้ย 24,700 บาท ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยรวมค่าใช้จ่ายร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด ดังนั้น การที่จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์เดือนละ 24,000 บาท 26,400 บาท 28,600 บาท และ 26,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 660,000 บาท กับที่จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์อีก 6 ครั้ง รวมเป็นเงิน 956,580 บาท และตามที่คู่ความรับกันว่าจำเลยได้ชำระต้นเงินแก่โจทก์แล้ว เดือนละ 5,000 บาท รวม 40 ครั้ง เป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์แล้วทั้งสิ้น 1,816,580 บาท จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระเป็นส่วนของต้นเงินทั้งหมด จำเลยคงค้างชำระต้นเงินอยู่เพียง 183,420 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญากู้ยืมเงิน ไม่มีการกำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 16 มิถุนายน 2557 ตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามพร้อมใบตอบรับไปรษณีย์ จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 7 วัน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เมื่อหนี้ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ของต้นเงิน 183,420 บาท นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงกำหนดให้ตามขอ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์ 183,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 กรกฎาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7