สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ชำระหนี้จำนองแทนแล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิผู้รับจำนอง

โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง และมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่ ป. ผู้ตาย หรือกองมรดกของ ป. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 230

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2562

คดีนี้เดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องนายไพรัตน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประสงค์เป็นจำเลยที่ 2 แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องว่า ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งให้ถอนนายไพรัตน์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และมีคำสั่งตั้งนายคมสันเป็นผู้จัดการมรดกของนายประสงค์แทน ขอให้เรียกนายคมสันในฐานะผู้จัดการมรดกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยนายคมสันขอถือเอาคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นคำให้การของตน ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายคมสันว่าจำเลยที่ 2 แทนนายไพรัตน์ และให้ถือว่านายไพรัตน์ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีต่อไป

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 18,571,876.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,077,809.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,845,809.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจนกว่าชำระเสร็จ โดยให้โจทก์ที่ 1 ได้รับชำระเงินจากทรัพย์สินในกองมรดกของนายประสงค์และจำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายประสงค์ที่ตกทอดแก่ตน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสี่ของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสี่ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ)

โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยจำเลยที่ 4 ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า นายประสงค์ เป็นคนต่างด้าว ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1756 โดยให้นางสาวอัมพร น้องภริยาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมามีการนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพโรจน์อุตสาหกรรมที่มีนายประสงค์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และนางสาวอัมพรเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าวโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพโรจน์อุตสาหกรรมผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ฟ้องบังคับให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพโรจน์อุตสาหกรรม นายประสงค์ และนางสาวอัมพรชำระเงินตามสัญญา กับฟ้องบังคับจำนอง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้บุคคลทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เป็นเงิน 2,530,324.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แต่บุคคลทั้งสามไม่ชำระธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จึงนำยึดทรัพย์ที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด โดยกำหนดขายทอดตลาดในวันที่ 5 มีนาคม 2535 แต่ก่อนวันนัดขายทอดตลาด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ยื่นคำแถลงต่อศาลขอถอนการยึดทรัพย์พิพาท เนื่องจากมีการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แล้ว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 ก่อนวันขายทอดตลาดเพียงหนึ่งวัน และในวันเดียวกันนั้นนางสาวอัมพรจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทกับจดทะเบียนเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสาวอัมพรในโฉนดที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2535 นางสาวอัมพรจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของตนให้แก่โจทก์ที่ 2 วันที่ 15 มิถุนายน 2535 นายประสงค์ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยให้จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมที่ดินให้มีคำสั่งอายัดทรัพย์ ห้ามการซื้อขาย จำหน่าย จ่ายโอนที่ดินพิพาทเพื่อนายประสงค์จะได้ดำเนินการจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 วันที่ 29 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินเพื่อให้อธิบดีกรมที่ดินสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและอายัดที่ดินพิพาทมิให้จำหน่าย จ่ายโอนที่ดินพิพาทไปให้ผู้อื่น กับให้แจ้งให้นายประสงค์กับนางสาวอัมพรยินยอมให้อธิบดีกรมที่ดินนำที่ดินพิพาทออกจำหน่ายให้แก่จำเลยที่ 4 ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2537 นายประสงค์ถึงแก่ความตาย ส่วนกรมที่ดินเมื่อได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยที่ 4 ได้ให้จังหวัดปทุมธานีติดตามผลคดีที่จำเลยที่ 1 และนายไพรัตน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประสงค์ฟ้องโจทก์ทั้งสองและนางสาวอัมพร ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนางสาวอัมพร และเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ให้จังหวัดปทุมธานีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายประสงค์โดยใส่ชื่อนางสาวอัมพรถือกรรมสิทธิ์แทน และให้โจทก์ทั้งสองกับนางสาวอัมพรจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่นายประสงค์ผู้ตายหรือกองมรดกของนายประสงค์ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ อ้างว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ และพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอื่นต่อไป

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในประการแรกว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ และฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 518/2545 ของศาลจังหวัดธัญบุรี หรือไม่ ในข้อนี้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การต่อสู้คดีว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้อง และเป็นฟ้องซ้ำ ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 และโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้กล่าวแก้ปัญหาเรื่องอายุความและฟ้องซ้ำในคำแก้อุทธรณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง ทั้งปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้ ส่วนฟ้องซ้ำ แม้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ตามรูปคดี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่จะพึงกระทำได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งหยิบยกเป็นประเด็นในชั้นฎีกา เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 กรณีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้โจทก์ที่ 1 มีโจทก์ที่ 1 และทนายโจทก์ทั้งสองเบิกความประกอบเอกสารยืนยันว่า โจทก์ที่ 1 ชำระเงินให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 5,345,012 บาท (ที่ถูก 5,845,012 บาท) และชำระดอกเบี้ยเพิ่มอีก 798.50 บาท โดยให้บริษัทอีสท์ - เวสท์ แอร์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการ ซื้อแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 2,463,676.50 บาท กับให้สถาบันการเงินที่ปิดกิจการไปแล้วซื้อแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แต่ไม่สามารถค้นหาเอกสารได้ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เพียงแต่อ้างว่าเงินที่นำมาชำระหนี้ไม่ใช่เงินของโจทก์ที่ 1 จึงเท่ากับยอมรับว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) แต่เงินที่นำมาชำระไม่ใช่เงินของโจทก์ที่ 1 เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพโรจน์อุตสาหกรรมผิดนัดไม่ชำระหนี้ และทางนำสืบของคู่ความไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายประสงค์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะดำเนินการใดเพื่อมิให้ที่ดินพิพาทถูกบังคับชำระหนี้ การที่นางสาวอัมพรซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ตามกฎหมาย ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะหาบุคคลอื่นมาชำระหนี้แทนเพื่อมิให้ตนเองต้องถูกบังคับชำระหนี้ได้ เชื่อว่านางสาวอัมพรให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้จำนองแทน มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่นางสาวอัมพรจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมขณะที่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง ส่วนเงินที่จะนำมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารนั้น โจทก์ที่ 1 จะนำมาจากที่ใดเป็นเรื่องของโจทก์ที่ 1 หาใช่เป็นเหตุอันจะทำให้โจทก์ที่ 1 มิใช่ผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้ไม่ ทั้งการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ศาลพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ที่ 1 จึงนำสืบพยานบุคคลเกี่ยวกับการชำระหนี้ได้ ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า พยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์ที่ 1 นำสืบมามีน้ำหนักเพียงพอรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงิน 5,845,809.50 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายประสงค์โดยใส่ชื่อนางสาวอัมพรถือกรรมสิทธิ์แทน กับให้โจทก์ทั้งสองและนางสาวอัมพรจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่นายประสงค์ผู้ตายหรือกองมรดกของนายประสงค์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3849/2554 ย่อมทำให้นายประสงค์ผู้ตายหรือกองมรดกของนายประสงค์ได้ไปซึ่งที่ดินพิพาทโดยปลอดจากภาระจำนองอันเนื่องมาจากการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 การที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้จำนองที่เกี่ยวพันกับที่ดินพิพาทไปดังกล่าว แม้จะไม่ได้ความว่านายประสงค์ได้ให้ความเห็นชอบ แต่หนี้ที่มีการชำระไปนั้นเป็นหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพโรจน์อุตสาหกรรม นายประสงค์ และนางสาวอัมพรลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ การชำระหนี้ของโจทก์ที่ 1 ย่อมสมประโยชน์และตามความประสงค์อันแท้จริงของลูกหนี้ เป็นประโยชน์แก่นายประสงค์หรือกองมรดกของนายประสงค์ที่ไม่ต้องชำระหนี้จำนองให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ กรณีจึงต้องถือว่า โจทก์ที่ 1 ยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ดังกล่าว โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 314 การที่โจทก์ที่ 1 ได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือไม่สุจริต หรือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างมาในฎีกา ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจของธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้เรียกร้องบังคับเอาแก่นายประสงค์ผู้ตายหรือกองมรดกของนายประสงค์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2542 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าว รับโอนที่ดินพิพาทจากนางสาวอัมพร จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยฉ้อฉล ไม่สุจริต และไม่เสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้ มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ และที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3849/2554 แม้คู่ความในคดีดังกล่าวจะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีนี้ก็ตาม แต่ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยแต่เพียงว่านางสาวอัมพรถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนนายประสงค์เท่านั้น จึงไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาฟังเป็นยุติที่ศาลจะนำมาวินิจฉัยในคดีนี้ได้ และไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างได้ว่าไม่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประสงค์ต้องร่วมกันชำระเงิน 5,845,809.50 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ไป สิทธิของโจทก์ที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินเป็นต้นไป จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้แทนไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตเสียภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ถ้าไม่จำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ก็ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ การที่นายประสงค์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเพียงแต่ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยที่อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว การให้จึงยังไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 4 ยังไม่มีความผูกพันตามสัญญาการให้ที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ สำหรับจำเลยที่ 3 เมื่อตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 มาตรา 61 บัญญัติให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ของจำเลยที่ 4 ไปเป็นของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ สมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,845,809.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ