สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ซื้อที่ดินติดจำนองจากการขายทอดตลาด

 

หลายๆ  ท่านที่ได้ประมูลซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดจากสำนักงานบังคับคดี  ในบางครั้ง  เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทรัพย์สินหรือที่ดินโดยติดภาระจำนองมาด้วย  ซึ่งท่านในฐานะผู้รับซื้อทรัพย์ที่ติดจำนองจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เพียงใดนั้น  คงเป็นปัญหาที่ค้างคาใจท่าน  ในวันนี้  ท่านจะได้รับคำตอบอย่างแน่นอน 

ปัญหาดังกล่าวมีหลักกฎหมายดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
มาตรา 736  ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองก็ได้ ถ้าหากมิได้เป็นตัวลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือเป็นทายาทของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน

มาตรา 738  ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ
(1) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง
(2) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์
(3) ชื่อเจ้าของเดิม
(4) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน
(5) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้
(6) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน
อนึ่ง ให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย

ปัญหาดังกล่าว  ได้คำตอบว่า  ท่านสามารถไถ่ถอนทรัพย์ที่ติดจำนองได้เท่าที่ทรัพย์สินที่จำนองนั้นเป็นหลักประกันหนี้เท่านั้น  นั้นหมายความว่า  ท่านไม่ต้องชำระหนี้ทั้งหมดที่ลูกหนี้ติดค้างอยู่กับเจ้าหนี้  เช่น  นาย  ก  เป็นหนี้  นาย  ข  อยู่  ๒  ล้านบาท  ได้เข้าบ้านพร้อมที่ดินจำนองเป็นประกันหนี้จำนวน  ๑  ล้านบาท  ต่อมา  นาย ก  ผิดนัด  นาย ข  ฟ้องคดีและศาลตัดสินให้นาย  ก  ชำระหนี้  จำนวน  ๒  ล้านบาท  พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา  แต่นาย  ก  ไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษา นาย  ข  ได้บังคับคดี  ยึดที่ดินพร้อมบ้านออกขายทอดตลาด  ปรากฏว่า  นาย  ค  ได้ประมูลซื้อบ้านพร้อมที่ดิน  ได้  เป็นเงินจำนวน  ๒  แสนบาท  แต่ติดภาระจำนองมาด้วย  เช่นนี้  นาย  ค  จะต้องรับโอนที่ดินพร้อมบ้านไปพร้อมกับหนี้จำนองที่มีอยู่คือ  ๑  ล้านบาท  นาย  ค  มีสิทธิที่จะไถ่ถอนจำนองได้  โดยนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่นาย  ข  จำนวน  ๑  ล้านบาท  ไม่ใช้  ๒  ล้านบาท  เป็นต้น 

ในปัญหานี้  ได้มีคำพิพากษาของศาลดังนี้

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2562
จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งตามสัญญาจำนองมีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับ... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27
*****************************************************
ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 4,040,701.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ ให้บังคับจำนองขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 65603 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้จำนอง 1,358,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 (ที่ถูกวันที่ 26) สิงหาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะบังคับคดีเสร็จ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิล้ำจำนวนดังกล่าวให้คืนส่วนที่ล้ำจำนวนแก่จำเลย ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์อีก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

 
 

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้จำนองจำนวน 1,358,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2554 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 สิงหาคม 2559) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 65603 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ แต่หากขายทอดตลาดแล้วเหลือเงินสุทธิเท่าใดให้คืนแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นนี้ โดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์จดทะเบียนประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์และเป็นสถาบันการเงินตามพระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2549 นายมานิตและนางสุดินานำที่ดินโฉนดเลขที่ 65603 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ในวงเงิน 1,358,000 บาท ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองในข้อ 8 ว่า "ถ้าหากมีการบังคับจำนอง และภายหลังจากเอาทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนหนี้อันผู้จำนอง และหรือลูกหนี้มีหน้าที่ที่จะต้องชำระแก่ผู้รับจำนอง...เป็นจำนวนเงินเท่าใด ผู้จำนองยินยอมรับใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นจนครบ" ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด โดยการติดจำนองเพื่อชำระหนี้ของเจ้าหนี้อื่นตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ม.6605/2550 ของศาลจังหวัดมีนบุรี จำเลยประมูลซื้อได้และชำระราคาครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 โจทก์ทำสัญญารับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งรวมถึงมูลหนี้ที่ผู้จำนองคดีนี้มีต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ด้วย และโจทก์จดทะเบียนรับโอนสิทธิการรับจำนองแล้ว ภายหลังโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2559 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ บอกกล่าวบังคับจำนองและแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้อง โดยกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือหรือถือว่าได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ไม่ไถ่ถอนจำนองจนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า หากบังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่พอชำระหนี้ โจทก์จะอาศัยข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันตามข้อ 8 ดังกล่าวมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าวในข้อ 8 เป็นการยกเว้นให้ผู้จำนองต้องรับผิดชำระหนี้ของลูกหนี้เกินกว่าทรัพย์ที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 แต่หากผู้จำนองมิใช่ลูกหนี้ ข้อตกลงดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการค้ำประกันหนี้ของบุคคลอื่น ซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างโจทก์กับผู้จำนองที่เป็นคู่สัญญาระหว่างกันอันเป็นบุคคลสิทธิ มิใช่เป็นการก่อตั้งทรัพยสิทธิอันจะตกติดไปกับทรัพย์สินที่จำนอง จำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์สินซึ่งจำนองจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วย โดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 736 และมาตรา 738 หาใช่ต้องรับผิดในหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเต็มจำนวนอันเกินกว่าราคาของทรัพย์สินที่จำนองไม่ โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้ โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทนนายมานิตและนางสุดินาผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันตามข้อ 8 ดังกล่าวมาบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดในทรัพย์สินอื่นของจำเลยด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราใดและตั้งแต่เมื่อไร เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย..." ดอกเบี้ยนี้ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาจำนอง ซึ่งปรากฏตามเอกสาร ข้อ 1 ว่ามีข้อตกลงนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันหนี้รายนี้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,358,000 บาท โดยชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันถึงจำเลยผู้ซื้อทรัพย์โดยติดจำนองด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 738 ที่กำหนดให้ผู้รับโอนที่ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน...ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์นั้น โดยตาม (6) ให้คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน... ฉะนั้น แม้จำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองและหากประสงค์จะไถ่ถอนจำนองก็ยังคงมีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจำนอง นับแต่มีการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้จำนอง และโจทก์ก็ได้นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2549 จนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่าไม่มีการชำระจริง เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ไว้ ส่วนที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากจำเลยในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาตามประกาศ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในเงินให้สินเชื่อ เมื่อปรากฏว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และเป็นสถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์ย่อมมีสิทธิประกาศและกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้แต่ไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าประกาศของโจทก์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงการคลัง โจทก์ชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากจำเลยได้นับแต่วันผิดนัด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยมีเพียง 1,290,806.90 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 25,816 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 52,976 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เกินมา 27,160 บาท แก่จำเลย

พิพากษาแก้เป็นว่า หากบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามฟ้องได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 27,160 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ