สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเกินส่วนของตน

ในบางครั้ง  ผู้ทำพินัยกรรมมีกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่น  ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส  กรรมสิทธิ์รวม  เป็นต้น  ทรัพย์สินเหล่านี้  ไม่ได้เป็นของผู้ทำพินัยกรรมแต่เพียงผู้เดียว  แต่ผู้อื่นยังมีส่วนในทรัพย์สินนั้นๆ  ร่วมกับผู้จัดทำพินัยกรรมรวมผู้ด้วย  ดังนั้น  ผู้จัดทำพินัยกรรมจึงไม่มีส่วนในทรัพย์สินของตนเองเต็มส่วนในทรัพย์นั้น

ในปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ประเด็นที่ว่า  ผู้จัดทำพินัยกรรมได้ระบุในพินัยกรรมว่า  ต้องการยกทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมทั้งหมดให้แก่ผู้รับพินัยกรรม  จึงมีปัญหาว่า  การยกทรัพย์มรดกเกินส่วนของตนเองเช่นนี้  สามารถทำได้หรือไม่  และมีความสมบูรณ์หรือตกเป็นโมฆะเพียงใด

คำตอบ  แม้ผู้ทำพินัยกรรมจะระบุว่า  ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้รับพินัยกรรม  แต่ก็มีผลเพียงเท่าที่ผู้จัดทำพินัยกรรมมีส่วนในกรรมสิทธิ์รวมเท่านั้น  ไม่สามารถยกทรัพย์สินในส่วนของกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นให้แก่ผู้รับพินัยกรรมได้   

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย มาตรา 1481  สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1646  บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2559

 

ป.พ.พ. มาตรา 1481, 1646, 1705

 

พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652, 1653, 1656, 1657, 1658, 1660, 1661 หรือ 1663 ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา เป็นสินสมรสส่วนของโจทก์เพียง 8 ไร่ 2 งาน 7,0625 ตารางวา โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนดังกล่าวหลังจากที่จดทะเบียนหย่า การที่ ส. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ตรวจแก้ไขชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1481 ที่บัญญัติ "สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้" เพราะขณะทำพินัยกรรมโจทก์และ ส. ไม่ได้เป็นสามีภริยากันแล้ว ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่บทมาตราที่จะตกเป็นโมฆะตามที่มาตรา 1705 บัญญัติ แต่เป็นการทำพินัยกรรมกำหนด การเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ใช่ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 1646 ก็มีผลเพียงว่า ข้อกำหนดที่ยกที่ดินพิพาทส่วนของผู้อื่นไม่มีผลบังคับเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดอื่น เช่น การตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกคงมีผลบังคับได้ ดังนี้ หาทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะไม่เนื่องจากไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 1705 เช่นกัน
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองและข้อกำหนดในพินัยกรรมที่นายสวัสดิ์ทำไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2549 เพิกถอนการจดทะเบียนการรับโอนมรดกที่จำเลยในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนไว้ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2215 ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (นครไชยศรี) เนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 54 และ 54/1 แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์มีสิทธิดำเนินการได้เองโดยถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องหรือไม่ว่าเพราะเหตุใด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามมูลค่าที่ดินและบ้านจำนวน 2,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการที่นายสวัสดิ์จำหน่ายที่ดินพิพาทเกินส่วนไปจำนวน 3 ไร่ เป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดนครปฐมเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 ต่อมาประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดนครปฐมจึงโอนคดีนี้มาที่ศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2215 ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (นครไชยศรี) เนื้อที่ 14 ไร่ 78.437 ตารางวา เป็นสินสมรสส่วนของโจทก์ พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนายสวัสดิ์ ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2549 ไม่มีผลผูกพันและบังคับถึงที่ดินสินสมรสในส่วนของโจทก์ได้ ให้จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา คืนแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

แสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสวัสดิ์ ผู้ตายใช้หนี้ค่าที่ดินแก่โจทก์ 744,648.13 บาท จากกองมรดกผู้ตาย พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยใช้ราคาแทนหากโอนที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ได้นั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยแล้ว จึงไม่จำต้องกำหนดให้จำเลยใช้ราคาแทนอีก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนคงเสียเฉพาะค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 30,000 บาท
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2215 ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (นครไชยศรี) ตามส่วนเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 7.0625 ตารางวา ให้จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสวัสดิ์ ผู้ตาย จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย สำหรับคำขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ชดใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นายถม และนางหนู เป็นสามีภริยากันชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 2215ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (นครไชยศรี) เนื้อที่ 30 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นสินสมรสของนายถมและนางหนู โดยซื้อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2485 จากนายจ่าง แต่ใส่ชื่อนายถมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2504 นายถมถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นายถมมีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกขณะถึงแก่ความตาย คือ นางหนู (ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส) นายไสว นางคุ่ม นางเล็ก นายหวาน นางตอง และนายสวัสดิ์ รวม 6 คน (ทายาทโดยธรรมประเภทญาติอันดับที่ 1 ผู้สืบสันดานชั้นบุตร) กับนายบัว นายใบ เด็กหญิงหมวย และเด็กหญิงตุ่ม 4 คน (ทายาทโดยธรรมประเภทญาติอันดับที่ 1 ผู้สืบสันดานชั้นหลาน) ซึ่งรับมรดกแทนที่ในส่วนของนางยวง ซึ่งเป็นบุตรของนายถมและนางหนูตามบัญชีเครือญาติด้านหลังคำขอรับโอนมรดกสำเนาภาพถ่ายคำขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาท วันที่ 30 ตุลาคม 2506 นางหนูยื่นคำขอรับโอนมรดกของนายถม วันที่ 19 พฤษภาคม 2507 โจทก์และนายสวัสดิ์จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นางสาวจุฬารัตน์ นายพิทักษ์ นางกรกมล และนายอดิศร วันที่ 26 พฤษภาคม 2515 นางหนูจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายสวัสดิ์ วันที่ 30 ตุลาคม 2521 โจทก์และนายสวัสดิ์จดทะเบียนหย่ากัน โดยบันทึกเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินว่า ไม่ประสงค์ให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน ตามสำเนาภาพถ่ายบันทึก วันที่ 30 พฤศจิกายน 2521 จำเลยและนายสวัสดิ์จดทะเบียนสมรสกัน วันที่ 24 ตุลาคม 2522 และวันที่ 28 ตุลาคม 2523 นายสวัสดิ์จดทะเบียนให้นายพยอม และนางตองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวม วันที่ 3 พฤษภาคม 2525 นายสวัสดิ์แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทให้แก่นายพยอมและนางตองคิดเป็นเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา และ 5 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา ที่ดินพิพาทคงเหลือ 11 ไร่ 87 ตารางวา วันที่ 4 มกราคม 2549 นายสวัสดิ์ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวและตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามสำเนาพินัยกรรม วันที่ 20 พฤษภาคม 2555 นายสวัสดิ์ถึงแก่ความตาย วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสวัสดิ์ วันที่ 29 กันยายน 2555 ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ตามสำเนาคำร้องขอและคำสั่งศาลจังหวัดนครปฐม คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1034/2555 หมายเลขแดงที่ 1223/2555 วันที่ 12 ตุลาคม 2555 จำเลยยื่นคำขอโอนมรดก ตามสำเนาคำขอโอนมรดก อนึ่ง บ้านเลขที่ 54 และ 54/1 ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม 2 หลัง ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือและไม่ตกได้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ไม่อุทธรณ์สำหรับบ้านเลขที่ดังกล่าว 2 หลัง จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามสำเนาพินัยกรรม ตกเป็นโมฆะหรือไม่ พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652, 1653, 1656, 1657, 1658, 1660, 1661 หรือ 1663 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา เป็นของโจทก์ทั้งหมด นายสวัสดิ์ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลย พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ แต่ข้อเท็จจริงได้ความดั่งที่วินิจฉัยข้างต้นว่าสินสมรสส่วนของโจทก์เพียง 8 ไร่ 2 งาน 7.0625 ตารางวา ดังนั้น โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเพียง 8 ไร่ 2 งาน 7.0625 ตารางวา หลังจากที่จดทะเบียนหย่า การที่นายสวัสดิ์ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจแก้ไขชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1481 ที่บัญญัติว่า "สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้" เพราะขณะทำพินัยกรรมของโจทก์และนายสวัสดิ์ไม่ได้เป็นสามีภริยากันแล้ว ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่บทมาตราที่จะตกเป็นโมฆะตามที่มาตรา 1705 บัญญัติ แต่การที่นายสวัสดิ์ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยเป็นการทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ใช่ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 1646 ก็มีผลเพียงว่า ข้อกำหนดที่ยกที่ดินพิพาทส่วนของผู้อื่นไม่มีผลบังคับเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดอื่น เช่น การตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกคงมีผลบังคับได้ ดังนี้ หาทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะไม่ เนื่องจากไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 1705 เช่นกัน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา เพียง 8 ไร่ 2 งาน 7.0625 ตารางวา ดังนั้น ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยต้องชดใช้เงินจำนวน 744,648.13 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ