สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่


การรับมรดกแทนนั้น หมายถึงผู้สืบสันดานที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ใช้กับผู้สืบสันดานสายตรงเท่านั้น โดยเป็นผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตทีแท้จริง ดังนั้น บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช้ผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตจึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2540
ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของจ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดกและจ. ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกเช่นนี้ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่จ. ได้เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของจ. ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713วรรคหนึ่ง

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวจรัญ เด่นศิริพงษ์ ซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่12 สิงหาคม 2539 นางสาวจรัญเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวสุพิน เด่นศิริพงา์ เจ้ามรดกซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2539 เนื่องจากการหมุนเวียนของกระแสโลหิตล้มเหลว เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรสและไม่มีบุตร คงมีแต่พี่น้องร่วมบิดามารดาเท่านั้นมีทรัพย์มรดก คือ บัญชีเงินฝากประจำหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วผู้ร้องได้ไปติดต่อกับธนาคารเพื่อขอเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว แต่ได้รับแจ้งจากธนาคารว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ผู้ร้องบรรลุนิติภาวะแล้วไม่เป็นบุคคลวิกลจริตไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนล้มละลาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสุพินเจ้ามรดก
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเพื่อไปทำคำร้องคัดค้านมายื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสอบผู้ร้องผู้ร้องแถลงว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นางสาวจรัญมารดาซึ่งรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานจึงมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานผู้ร้องและยกคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้คัดค้าน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643บัญญัติว่า สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ซึ่งหมายความถึงผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอันแท้จริงเท่านั้น ส่วนบุตรบุญธรรมนั้น แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 จะบัญญัติ ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ตาม ก็หมายความเพียงว่า บุตรบุญธรรมดังกล่าวเป็นทายาทโดยธรรมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น แต่หามีผลทำให้บุตรบุญธรรมดังกล่าวมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่เพราะไม่ใช่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643 ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากคำร้องขอของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวจรัญ เด่นศิริพงษ์ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวสุพิน เด่นศิริพงษ์เจ้ามรดก และนางสาวจรัญได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่นางสาวจรัญได้ เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวจรญ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร