สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ฟ้องชู้เรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

ท่านที่ต้องการทราบว่า ฟ้องชู้แล้วเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่ ให้ท่านศึกษาบทความจากคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2518 ภายหลังได้จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2540 จำเลยออกจากบ้านโดยมีเจตนาที่จะละทิ้งร้างโจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงอื่นจำเลยจำหน่ายสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ คือ รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ห้องชุดบ้านสวนบางเขน ทาวน์เฮาส์ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหุ้นและเงินปันผลของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง และเงินบำเหน็จที่จำเลยได้รับเนื่องจากลาออกจากกรมประมง ซึ่งเงินจากการขายรถยนต์ทั้งสองคัน ค่าหุ้น และเงินปันผลรวมทั้งเงินบำเหน็จ จำเลยต้องชดใช้คืนแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 671,000 บาท ส่วนห้องชุดทาวน์เฮาส์และดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารซึ่งเป็นสินสมรส จำเลยต้องแบ่งในส่วนของโจทก์ด้วยการที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและเสียชื่อเสียงขอคิดค่าทดแทนเป็นเงิน 5,000,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท และชดใช้สินสมรสที่ได้จัดการไปในทางที่เสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 671,000 บาท ให้จำเลยถอนดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (ที่ถูก บัญชีเงินฝากประจำ) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน เลขที่ 047-2-12xxx-x ณ วันทำการเบิกถอนให้โจทก์ครึ่งหนึ่งและให้จำเลยแบ่งสินสมรส คือห้องชุดบ้านสวนบางเขน เลขที่ 21/168 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร และทาวน์เฮาส์เลขที่ 99/81 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 137137 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 137137 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร) ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้มีการพิจารณาพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 920/2544 มาแล้ว คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเกี่ยวกับเหตุหย่าว่ายังไม่พอฟังว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) ทิ้งร้างโจทก์ (จำเลยคดีนี้) ไปเกิน 1 ปี ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นเหตุหย่าตามฟ้อง คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำจำเลยไม่ได้จ่ายโอนสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าทดแทนแก่โจทก์ แต่จำเลยยินดีแบ่งดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ 500,000 บาท ให้จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน เลขที่บัญชี 047-2-12xxx-x จำนวนเงิน 2,646,484.08 บาท มาชำระแก่โจทก์ และให้จำเลยถอนดอกเบี้ยของเงินฝากดังกล่าวที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 3 ธันวาคม 2544 ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดมาชำระแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ถอนเงินทั้งสองรายการมาชำระแก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้โจทก์และจำเลยแบ่งห้องชุดบ้านสวนบางเขน เลขที่ 21/168 ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร และทาวน์เฮาส์เลขที่ 99/81 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 137137 ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจัตุจักร กรุงเทพมหานคร (ที่ถูกโฉนดเลขที่ 137137 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร) คนละครึ่ง หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้นำออกประมูลราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งกันคนละครึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน 9 ฬ - 3113 กรุงเทพมหานคร จำเนวน 500,000 บาท เงินค่าหุ้นและเงินปันผลจากสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำนวน 142,000 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยลงชื่อเบิกถอนดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน เลขที่ 047-2-12xxx-x มาชำระแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยถอนดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 13 ธันวาคม 2544 ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งนี้ดอกเบี้ยเงินฝากจนถึงวันดังกล่าวหลังจากแบ่งกันแล้วต้องไม่เกิน 2,799,644.21 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ตกเป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี และมาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าทดแทนตามมาตรา 1523 และมาตรา 1524 นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนจำเลยจะละทิ้งร้างโจทก์ไปนั้น เมื่อเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2540 จำเลยป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองตีบซึ่งแพทย์แนะนำให้จำเลยงดการขับรถยนต์ส่อแสดงสมรรถภาพทางร่างกายของจำเลยไม่ปกติเช่นคนธรรมดาทั่วไป และขณะถูกฟ้องจำเลยมีอายุ 60 ปี อีกทั้งโจทก์เบิกความว่า นอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ขอแบ่งแล้วโจทก์ยังประสงค์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในกรณีจำเลยทิ้งร้างโจทก์ไปทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน เพื่อนฝูงและคนรู้จักกันจะว่าโจทก์เป็นหญิงหม้ายที่สามีทิ้งร้างไป ทำให้โจทก์อับอายโดยคนเหล่านั้นเข้าใจว่าโจทก์เองเป็นฝ่ายผิดโจทก์จึงต้องการเรียกร้องค่าทดแทนดังกล่าวเป็นเงิน 5,000,000 บาท ตามฟ้องโจทก์มิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่า โจทก์ควรได้ค่าทดแทนเท่าใด เมื่อคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีประกอบบทบัญญัติ มาตรา 1525 แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้ว เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฏีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในประเด็นข้อนี้จึงชอบด้วยเหตุผลศาลฏีกาเห็นพ้องด้วย ฏีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฏีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร