สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ภริยาปลอมลายมือชื่อสามีไปกู้ยืมและสามีได้รับเงินกู้แล้วก็ต้องรับผิดชดใช้

สัญญากู้ยืมเงินแม้มีการปลอมลายมือชื่อผู้กู้  จึงถือว่าเป็นสัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  เพราะสัญญากู้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงเท่ากับว่า   มีไม่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดงต่อศาลเพื่อให้บังคับตามสัญญากู้ยืมเงินก็ตาม  แต่การกู้ยืมเงินในลักษณะนี้  เป็นการได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากผู้ให้กู้ยืมโดยไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้  ผู้รับเงินไปจากผู้ให้กู้จะต้องคืนเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ฐานลาภมิควรได้  เพราะผู้รับเงินไม่มีเหตุผลในการอ้างข้อกฎหมายได้ว่า  ได้กู้ยืมเงินมาจากผู้ให้กู้โดยอ้างอาศัยข้ออ้างใด

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์    

          มาตรา 406  บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
วรรคสอง  บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มา เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3207/2559

แม้ลายมือชื่อจำเลยในการทำนิติกรรมยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ไว้แก่โจทก์จะเป็นลายมือชื่อปลอมที่ภริยาจำเลยเป็นผู้ดำเนินการให้แทน แต่จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ไปแล้ว การที่จำเลยได้รับเงินจากการกู้ยืมที่มีลายมือชื่อปลอมจึงเป็นการรับเงินกู้ไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,318,983.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,284,667.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ชดใช้ค่าตรวจพิสูจน์หลักฐานแก่จำเลยเป็นเงิน 40,269 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,284,667.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่เป็นค่าตรวจพิสูจน์เอกสารให้ตกเป็นพับแก่จำเลยและให้จำเลยคืนเงิน 40,269 บาท แก่ศาลชั้นต้นภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด มิฉะนั้นให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อให้ได้เงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนมายังศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นสมาชิกของโจทก์ นางสุดา เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและเป็นพนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2555 นางสุดาเป็นผู้จัดทำคำขอกู้และสัญญากู้เงินสามัญ เป็นสัญญาเลขที่ 1303 ระบุว่า จำเลยเป็นผู้ขอกู้เงิน 372,000 บาท ตกลงจะชำระคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 3,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยรวม 107 งวด เว้นแต่งวดสุดท้ายขอส่ง 1,000 บาท ตั้งแต่งวดประจำเดือนเมษายน 2554 เป็นต้นไป และมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของจำเลยในช่องผู้กู้ คำขอกู้และสัญญากู้เงินสามัญ ยังมีข้อความระบุว่า จำเลยได้รับเงินกู้ 372,000 บาท โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 901-1-61226-4 และมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของจำเลยในช่องผู้กู้/ผู้รับเงิน รวมทั้งมีข้อความว่า หักหนี้สามัญเดิมและดอกเบี้ยเป็นเงิน 334,500 บาท คงเหลือ 37,500 บาท นางสุดาเป็นผู้จัดทำคำขอกู้และ

สัญญากู้เงินสามัญ เป็นสัญญาเลขที่ 1966/54 ระบุว่า จำเลยเป็นผู้ขอกู้เงิน 1,200,000 บาท ตกลงจะชำระคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยรวม 150 งวด ตั้งแต่งวดประจำเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นไป และมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของจำเลยในช่องผู้กู้ คำขอกู้และสัญญากู้เงินสามัญยังมีข้อความระบุว่า จำเลยได้รับเงินกู้ 1,200,000 บาท โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 15019480 และมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของจำเลยในช่องผู้กู้/ผู้รับเงิน รวมทั้งมีข้อความว่า หักหนี้สามัญเดิมและดอกเบี้ยเป็นเงิน 358,000 บาท หนี้ฉุกเฉินและดอกเบี้ย 446.27 บาท คงเหลือ 841,553.73 บาท และด้านหลังคำขอกู้และสัญญากู้เงินสามัญเป็นหนังสือค้ำประกันเงินกู้สามัญและคำเตือนผู้ค้ำประกันที่ระบุว่า ดาบตำรวจวิภาค ดาบตำรวจพิชิตชัย ดาบตำรวจอำนวยและดาบตำรวจจักรินทร์ ผู้ค้ำประกัน โดยมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของบุคคลทั้งสี่คนในช่องผู้ค้ำประกันที่อยู่ด้านล่างด้วย นางสุดาเป็นผู้จัดทำคำขอกู้และสัญญาเงินกู้เพื่อส่งเสริมอาชีพ เป็นหนังสือกู้ที่ 1366 ระบุว่า จำเลยเป็นผู้ขอกู้เงิน 200,000 บาท ตกลงจะชำระคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยรวม 100 งวด ตั้งแต่งวดประจำเดือนกรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป และมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของจำเลยในช่องผู้กู้ คำขอกู้และสัญญาเงินกู้เพื่อส่งเสริมอาชีพดังกล่าวยังมีข้อความระบุว่า ยอดเงินที่อนุมัติ 200,000 บาท หักหนี้ฉุกเฉิน 89,700 บาท คงเหลือ 110,300 บาท โอนเข้าบัญชีธนาคารเลขที่ 15019480 และมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของจำเลยในช่องผู้รับเงินและด้านหลังคำขอกู้และสัญญาเงินกู้เพื่อส่งเสริมอาชีพเป็นหนังสือค้ำประกันเงินกู้สามัญเพื่อส่งเสริมอาชีพระบุว่า สิบตำรวจเอกบรรจง ผู้ค้ำประกัน โดยมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของสิบตำรวจเอกบรรจงอยู่ในช่องผู้ค้ำประกันด้วย ศาลชั้นต้นส่งคำขอกู้และสัญญากู้เงินสามัญ คำขอกู้และสัญญาเงินกู้เพื่อส่งเสริมอาชีพ ไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลการตรวจพิสูจน์ระบุว่า ลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ตรงกับตัวอย่างลายมือชื่อจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้โอนเงินตามคำขอกู้และสัญญากู้เงินสามัญ คำขอกู้และสัญญากู้เงินเพื่อส่งเสริมอาชีพ เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 901-1-61226-4 ของจำเลย รวมทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานว่ามีการโอนเงิน 741,553.73 บาท เข้าในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษเลขที่ 15019480 ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้รับเงินกู้จากโจทก์ คำขอกู้เงินไม่มีลายมือชื่อคู่สมรสให้ความยินยอม คำขอกู้เงินระบุว่าอนุมัติวันที่ 8 สิงหาคม 2554 แต่ตามเอกสารกลับระบุว่าวันที่ 5 สิงหาคม 2554 มีการโอนเงินจำนวน 741,553.73 บาท จึงเป็นการโอนเงินก่อนการอนุมัติ ระบุว่าเมื่อนำเงินที่กู้หักกับหนี้เดิม คงเหลือเงิน 841,553.37 บาท แต่ตามเอกสารโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษเลขที่ 15019480 เพียง 741,553.73 บาท ทั้งบัญชีดังกล่าวไม่ใช่บัญชีของจำเลย คำขอกู้และสัญญากู้เงิน ร้อยตำรวจเอกประเสริฐได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลย ทั้งที่ร้อยตำรวจเอกประเสริฐไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลย นอกจากนี้ ร้อยตำรวจเอกประเสริฐยังลงลายมือชื่อเป็นผู้อนุมัติให้กู้เงินโดยร้อยตำรวจเอกประเสริฐไม่มีอำนาจ ต่อมาจำเลยได้ทำบันทึกของดส่งเงินกู้และแจ้งว่ามีการปลอมแปลงลายมือชื่อและเอกสารต่าง ๆ ของจำเลยนำไปกู้เงินจากโจทก์ โจทก์ประชุมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวเห็นควรฟ้องจำเลยข้อหาลาภมิควรได้ ทั้งที่โจทก์ควรฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญากู้เงิน การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การที่โจทก์หักเงินเดือนของจำเลยเพื่อชำระหนี้โจทก์เนื่องจากมีการตกลงกันไว้ว่าให้หักเงินจำเลยได้ตามสัญญากู้เงิน จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญากู้ จำเลยย่อมไม่ทราบว่าโจทก์ได้หักเงินเดือนของจำเลยเพื่อชำระหนี้ ใบเสร็จเป็นเพียงเอกสารที่แสดงว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลย จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบ การหักเงินโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์เพียงแต่แจ้งต้นสังกัดของจำเลย ใบเสร็จไม่มีลายมือชื่อผู้จัดการของโจทก์และเจ้าหน้าที่ผู้รับเงิน พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทราบหรือยินยอมให้มีการหักเงินเดือนจำเลยเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ นางสุดาไม่ใช่ตัวแทนเชิดของจำเลย โจทก์ทราบว่าการยื่นคำขอกู้และทำสัญญากู้ นางสุดาเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยและผู้ค้ำประกันตลอดจนเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการกู้เงิน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยฐานลาภมิควรได้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยและนางสุดา เป็นสามีภริยากัน นางสุดาเป็นพนักงานของโจทก์ ส่วนจำเลยเป็นข้าราชการตำรวจและเป็นสมาชิกโจทก์ จำเลยกู้ยืมเงินและรับเงิน 372,000 บาท ไปจากโจทก์ จำเลยกู้ยืม 1,200,000 บาท ไปจากโจทก์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน เป็นผู้ค้ำประกัน การกู้เงินดังกล่าวจำเลยยินยอมให้โจทก์หักกลบลบหนี้ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2554 และจำเลยกู้ยืมเงิน 200,000 บาท ไปจากโจทก์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 คน เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 คงค้างชำระ 1,284,667.44 บาท แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการกู้เงินโจทก์ตามฟ้อง นางสุดาได้ยักยอกเอกสารสำเนาบัตรประจำตัว สำเนาทะเบียนบ้านและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องของจำเลยและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ค้ำประกัน โดยนางสุดาได้ปลอมลายมือชื่อจำเลยในฐานะผู้ขอกู้เพื่อรับเงินตามสัญญาก็ตาม แต่ภายหลังการกู้เงินโจทก์ได้หักเงินจากเงินเดือนของจำเลยทุกเดือนเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ หลังจากการหักเงินเดือนจำเลยในแต่ละเดือน โจทก์ได้ออกใบเสร็จเพื่อแสดงว่ามีการหักเงินเดือนจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยและส่งมอบใบเสร็จให้แก่ต้นสังกัดของจำเลยมาโดยตลอด จำเลยซึ่งถูกโจทก์หักเงินเดือนทุกเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2555 จำเลยกลับมิได้โต้แย้งโจทก์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิหักเงินเดือนจำเลย ที่จำเลยอ้างว่า สมุดเงินฝากก็ดี บัตรเอทีเอ็มของจำเลยก็ดี ถูกนางสุดาภริยาจำเลยเป็นผู้เก็บ การที่โจทก์หักเงินเดือนจำเลยจึงทำให้จำเลยไม่ทราบเรื่องนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพราะเงินเดือนจำเลยที่ถูกโจทก์หักในแต่ละเดือนมีจำนวนเงินสูง กรณีไม่น่าเชื่อว่า จำเลยจะไม่ทราบว่าโจทก์หักเงินเดือนของจำเลยเพื่อชำระหนี้การกู้ยืมเงินตามที่จำเลยอ้างในฎีกา ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า การทำนิติกรรมการยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ตามฟ้องจะไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยแต่เป็นลายมือชื่อปลอมที่นางสุดาภริยาจำเลยเป็นผู้ดำเนินการให้แทน การที่จำเลยไม่โต้แย้งการหักเงินเดือนจำเลยชำระหนี้ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ใบเสร็จเป็นเพียงแสดงว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลย จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อรับทราบก็ดี หรือใบเสร็จไม่มีลายมือชื่อผู้จัดการโจทก์และเจ้าหน้าที่ผู้รับเงินก็ดี รวมทั้งฎีกาข้ออื่นที่จำเลยอ้างในฎีกา ไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้รับเงินกู้จากโจทก์ตามฟ้อง การที่จำเลยได้รับเงินจากการกู้ยืมเงินที่มีลายมือชื่อปลอม จึงเป็นการรับเงินกู้ไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ การฟ้องคดีของโจทก์ไม่ใช่กรณีที่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามที่จำเลยอ้างในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามาโดยละเอียดนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ