สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สัญญากู้ยืมเงินที่รวมดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมีผลเป็นอย่างไร

เมื่อทำสัญญากู้ยืมเงิน  เจ้าหนี้มักจะรวมเอาดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือดอกเบี้ยที่เกินกว่าร้อยละ  ๑๕  ต่อปีเอาไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน  มีผลทำให้สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือไม่นั้น  ต้องพิจารณาจากการรับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินของผู้กู้ว่า  ไว้รับเงินจำนวนเท่าไหร่  หากว่าผู้กู้รับเงินตามสัญญากู้ไปจริงแต่น้อยกว่าตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้แล้ว  ผู้กู้ย่อมต้องรับผิดชอบตามเงินต้นที่ได้รับเงินเท่านั้น  ส่วนที่เกินที่เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้นำมารวมในจำนวนเงินในสัญญากู้  ผู้กู้ย่อมไม่ต้องรับผิดชอบ  และสัญญากู้ดังกล่าวไม่เป็นสัญญาปลอม  สามารถใช้บังคับฟ้องร้องคดีได้ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4738/2552
จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่ได้รับเงินกู้จากโจทก์เพียง 16,000 บาท เพราะโจทก์หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือน และโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เขียนสัญญากู้ยืมเงินว่ากู้เงินโจทก์จำนวน 160,000 บาท อันผิดไปจากความจริง อย่างไรก็ตามที่สัญญากู้ระบุจำนวนเงินกู้ไว้จำนวน 160,000 บาท แต่จำเลยต่อสู้และนำสืบหักล้างฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียงจำนวน 20,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์เท่านั้นหาใช่ทำให้เป็นสัญญากู้ปลอมแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงอาศัยสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมที่แท้จริงจำนวน 20,000 บาท ได้ จำเลยที่ 1 ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ต้นเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำเงินจำนวน 4,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน รวม 2 เดือน ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์หักไว้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินมาหักชำระหนี้ต้นเงินได้ เพราะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 สำหรับข้อตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยกันในอัตราดังกล่าวแต่ตกลงให้โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ แต่เนื่องจากกรณีเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งคดีนี้สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงให้ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และเมื่อความรับผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 176,241 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 160,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 16,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 160,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2543 ต้องไม่เกิน 16,241 บาท) ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่ได้รับเงินกู้จากโจทก์เพียงจำนวน 16,000 บาท เพราะโจทก์หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือนและโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เขียนสัญญากู้ยืมเงินว่ากู้เงินโจทก์จำนวน 160,000 บาท อันผิดไปจากความจริง อย่างไรก็ตามที่สัญญากู้ระบุจำนวนเงินกู้ไว้จำนวน 160,000 บาท อันผิดไปจากความจริง อย่างไรก็ตามที่สัญญากู้ระบุจำนวนเงินกู้ไว้จำนวน 160,000 บาท แต่จำเลยต่อสู้และนำสืบหักล้างฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียงจำนวน 20,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์เท่านั้น หาใช่ทำให้เป็นสัญญากู้ปลอมแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงอาศัยสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมที่แท้จริงจำนวน 20,000 บาท ได้ จำเลยที่ 1 ผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ต้นเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำเงินจำนวน 4,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน รวม 2 เดือน ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์หักไว้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินมาหักชำระหนี้ต้นเงินได้เพราะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และมาตรา 411 สำหรับข้อตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะทำสัญญาคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยกันในอัตราดังกล่าว แต่ตกลงให้โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ แต่เนื่องจากกรณีเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งคิดนี้สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงให้ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในต้นเงินจำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อความรับผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นให้ 2,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ