สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สัญญาค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์เท่าไหร่

สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาอื่นๆ  ที่เป็นหนี้หลัก  เช่น  สัญญากู้ยืมเงิน  สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง  สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี  สัญญาจ้างแรงงาน  เป็นต้น  ซึ่งสัญญาเหล่านี้มีคู่สัญญาอยู่แล้ว  แต่หากจะให้บุคคลภายนอกเข้ามารับผิดตามเนื้อความในสัญญาหลักแล้ว  คู่สัญญานั้นๆจะต้องจัดทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลเข้ามาอีก  ๑  สัญญา  หรือที่เรียกว่า  สัญญาค้ำประกัน  เมื่อคู่สัญญาหลักผิดสัญญาแล้ว  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องเอากับคู่สัญญาหลักและผู้ค้ำประกันได้ 

ทั้งนี้  การจะเอาสัญญาค้ำประกันไปเป็นหลักฐานการฟ้องคดีนั้น  จะต้องปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด  หากไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว  จะส่งผลให้ไม่สามารถใช้หลักฐานนั้นอ้างต่อศาลได้  และถือว่าไม่มีหลักฐานนั้นๆ  ปรากฏในสำนวนคดี  ทำให้ผู้ฟ้องต้องแพ้คดีได้

จึงมีคำถามต่อไปว่า  สัญญาค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์เท่าไหร่

ตามกฎหมายแล้ว  กำหนดให้ต้องปิดอากรแสตมป์จำนวน  10  บาท  โดยจะปิดดวงละ  1  บาท  10  ดวง  หรือ  ดวงละ  5   บาท  2  ดวงก็ได้

จึงมีคำถามต่อไปว่า  ต้องปิดอากรแสตมป์ตรงที่ใดของสัญญาค้ำประกัน
ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  จะปิดตรงหน้าสัญญาค้ำประกันนั้นๆ  นอกจากนั้น  การปิดอากรแสตมป์ที่ถูกต้องจะต้องมีการขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้นด้วยทุกดวง  มิฉะนั้นแล้ว  กฎหมายถือว่าไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เช่นกัน

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายรัษฎากร  มาตรา 108 ถ้าทำตราสารหลายลักษณะตามที่ระบุในบัญชีท้ายหมวดนี้บนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น เช่าและกู้ยืมเงินรวมกันไว้ หรือทำตราสารลักษณะเดียวกันหลายเรื่องบนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น ขายของสิ่งหนึ่งให้แก่คนหนึ่ง และขายอีกสิ่งหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง ซึ่งตามสภาพควรจะแยกกัน ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้ครบทุกลักษณะหรือทุกเรื่อง โดยปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นรายตราสารแยกไว้ให้ปรากฏว่าตราสารใดอยู่ที่ใด และแสตมป์ดวงใดสำหรับตราสารลักษณะหรือเรื่องใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2546

จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงจะชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 แทนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ในขณะทำสัญญาแต่ตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 หากไม่โอนยินยอมชดใช้เงิน ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าทำนองเบี้ยปรับ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118
สัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคต แม้เป็นสัญญาค้ำประกันหนี้อันสมบูรณ์ แต่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงถือว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 118
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยโจทก์ทั้งสองยังคงได้รับชำระเงินจากจำเลยทั้งสอง เพียงแต่ได้รับชำระเป็นจำนวนน้อยกว่าจำนวนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองจึงยังเป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งความรับผิดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองฝ่ายที่แพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง
___________________________

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,672,906 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 800,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามข้อตกลงที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 โดยใช้แบบพิมพ์สัญญากู้ยืมเงิน แต่ข้อความในสัญญาเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ตกลงจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 แทนการโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ที่ 2 แล้ว โดยจำเลยทั้งสองนำสืบว่า เมื่อเดือนกันยายน 2538 โจทก์ที่ 2 ขอจับกุ้งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเลี้ยงที่อำเภอขนอม หากจับกุ้งคิดเป็นเงินเกิน 600,000 บาท แล้ว ไม่ติดใจที่ดินอีกต่อไป หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้ไปจับกุ้ง ซึ่งจำเลยที่ 1 คิดเป็นเงินประมาณ 700,000บาท ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ไปจับกุ้งของจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏว่ามีการทำบันทึกข้อตกลงกันไว้แต่อย่างใดซึ่งเป็นการผิดวิสัย ทั้งไม่ปรากฏว่าได้ขอสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันคืน อนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ" คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ทั้งสองเข้าหุ้นซื้อที่ดินกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2534 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินไปหาประโยชน์ทำบ่อกุ้งแต่ฝ่ายเดียวการที่โจทก์ที่ 2 เข้าไปจับกุ้งขายจึงน่าจะเป็นดังที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่าจับกุ้งขายเป็นเงิน300,000 บาท เป็นการชดใช้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำที่ดินที่ซื้อร่วมกันไปหาประโยชน์พยานจำเลยทั้งสองจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังตามข้อต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2แทนการโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ที่ 2 แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 โดยตกลงจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 3 ไร่ ภายในวันที่ 31 มีนาคม2539 หากไม่โอนยอมใช้เงิน 2,500,000 บาท ตรงตามที่ระบุหมายเหตุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 800,000 บาท นั้นชอบแล้วส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง กับสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินโจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 2 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้แม้ในสัญญากู้ยืมเงินจะไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ที่ 2 ก็ตามส่วนสัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เห็นว่า ข้อความในสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ตกลงจะโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้แก่จำเลยที่ 1ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงจะชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 แทนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1ในขณะทำสัญญาแต่ตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดิน 3 ไร่ ให้แก่โจทก์ที่ 1 ภายในวันที่31 มีนาคม 2539 หากไม่โอนยินยอมชดใช้เงิน 2,500,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าทำนองเบี้ยปรับ ในขณะทำสัญญาสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118สำหรับสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 การทำสัญญาค้ำประกันหากจะฟังว่าเพื่อเป็นการประกันการชำระเงิน 2,500,000บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ซึ่งเป็นสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตซึ่งประกันได้ จึงเป็นสัญญาค้ำประกันหนี้อันสมบูรณ์ก็ตามแต่ตามประมวลรัษฎากรต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท แต่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เลยจึงถือได้ว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์และไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือที่มีลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แทนจำเลยทั้งสองตามทุนทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองยังคงได้รับชำระเงินจากจำเลยทั้งสอง เพียงแต่ได้รับชำระเป็นจำนวนน้อยกว่าจำนวนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองจึงยังเป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งความรับผิดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองฝ่ายที่แพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่สั่งให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แทนจำเลยทั้งสองตามทุนทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้ออื่นไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์