สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

อ้างว่าเป็นตำรวจแต่ไม่ได้กระทำการอย่างตำรวจไม่ผิด

การที่จะผิดแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงาน นั้น  เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เจ้าหน้าที่ป่าไม้  เจ้าหน้าที่สรรพกร  เจ้าหน้าที่ที่ดิน  เป็นต้น  ก็ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรานี้ทั้งสิ้น  แต่การอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานอย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนี้   แต่จะต้องมีการกระทำการเป็นเจ้าพนักงานด้วย  เช่น  ขอตรวจค้น  ขอให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชน  เป็นต้น  เมื่ออ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานและได้กระทำอย่างเจ้าพนักงานแล้ว  ผู้กระทำจึงจะถือว่าเป็นกระทำผิดครบองค์ประกอบของความผิด  และความผิดในมาตรานี้  ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้  แต่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน  แม้ผู้เสียหายที่ถูกแอบอ้างจะให้อภัยหรือยกโทษไม่ติดใจดำเนินคดีแล้ว  ย่อมต้องถูกศาลพิจารณาคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา    มาตรา 145  ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา  145 วรรคสอง  เจ้าพนักงานผู้ใดได้รับคำสั่งมิให้ปฏิบัติการตามตำแหน่งหน้าที่ต่อไปแล้ว ยังฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรกดุจกัน

องค์ประกอบความผิดของกฎหมาย
1.ผู้ใด
2.แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน
3.กระทำการเป็นเจ้าพนักงาน
4.พฤติการณ์นอกภาย  โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการ

คำพิพากษาของศาลที่ตัดสินว่า  ไม่เป็นความผิดฐานแอบอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2520  จำเลยพูดว่า 'อั๊วเป็นนายร้อยตำรวจตรี ค้นไม่ได้' ไม่ ยอมให้ตำรวจค้นรถที่จำเลยขับมายังไม่เป็นกระทำการเป็นเจ้าพนักงานไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2520 จำเลยบอกผู้เสียหายว่าเป็นตำรวจ ขอค้นบ้าน และเข้าไปในบ้าน แล้วขู่เอาทรัพย์ไป ดังนี้ จำเลยยังไม่ได้ทำการเป็นเจ้าพนักงานไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 145

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2558  ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาของศาลที่ตัดสินว่า  เป็นความผิดฐานแอบอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงาน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2514  จำเลยเป็นพนักงานตีตราไม้ ไม่ใช่พนักงานป่าไม้ผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ จำเลยได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ผู้มีอำนาจจับกุม แล้วได้ทำการจับกุมผู้เสียหายในเรื่องไม้ที่ผู้เสียหายมีไว้ในครอบครองและยังเรียกเงินจากผู้เสียหายด้วยการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2099/2527  จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่แต่งกายดังที่เจ้าพนักงานตำรวจนอกเครื่องแบบแต่งกันตามปกติ โดยนุ่งกางเกงสีกากี สวมเสื้อคอกลมขาว คาดเข็มขัดหนังยืนให้สัญญาณรถยนต์บรรทุกที่ผ่านไปมาให้หยุดรถเพื่อตรวจตรงจุดที่รถยนต์ตำรวจทางหลวงจอดอยู่เป็นประจำ อันทำให้บุคคลทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ในการเรียกตรวจรถแต่ละครั้งจำเลยแสดงให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าได้รับเงินจากพวกคนขับรถยนต์บรรทุกพฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385 - 2387/2554  หลังจากจำเลยที่ 1 ขับรถปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ร่วมให้หยุดรถ จำเลยที่ 6 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้เดินมาที่รถโจทก์ร่วมและบอกโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วจับโจทก์ร่วมใส่กุญแจมือควบคุมตัวไปพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรกด้วย แต่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเดียวเพื่อบังคับให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยที่ 6 ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2561  การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องพักของผู้เสียหายทั้งสี่และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เมื่อพบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงทำบันทึกการจับกุม แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ภายในห้องพัก และขู่เข็ญให้แจ้งญาตินำเงินไปมอบให้จำเลยทั้งสามมิฉะนั้นจะส่งตัวไปดำเนินคดี เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจากผู้เสียหายทั้งสี่ และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท