สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เงินจองซื้อบ้านเป็นมัดจำในการทำสัญญาจะซื้อจะขาย

            มัดจำนั้นมีหลายคนในที่นี้ มีความสนใจในเรื่องมัดจำอย่างแน่แท้ และหลายคนในที่นี้ย่อมเกิดข้อสงสัยตามมาว่า สิ่งใดที่เรียกว่ามัดจำ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้หรือศึกษากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องมัดจำย่อมต้องการค้นหาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสิ่งใดจึงจะเป็นมัดจำตามกฎหมาย และเมื่อเป็นมัดจำแล้วผลที่ตามในทางด้านกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร
ในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำจำกัดความของคำว่า มัดจำ และเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของเงินจองในการซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน หรือแม้แต่ซื้ออะไรก็ตามที่ต้องมีการวางเงินจองในการทำสัญญากับผู้ขายสินค้านั้นๆ
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า สิ่งใดเป็นมัดจำตามกฎหมายนั้น กฎหมายได้กำหนดหลักฐานเอาไว้ว่า เมื่อเข้าทำสัญญา ได้ให้สิ่งใดไว้ สิ่งนั้นเป็นมัดจำ ซึ่งสิ่งใดในที่นี้นั้นจะต้องมีมูลค่าอยู่ในตัวเอง เช่น เช็ค เงินสด เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องมาจากการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่ายว่า ต้องให้สิ่งนั้นเป็นมัดจำตามสัญญาด้วย เมื่อครบหลักเกณฑ์ดังเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ได้ให้ไว้ในขณะเข้าทำสัญญาย่อมเป็นมัดจำตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ต้องการซื้อบ้านจัดสรรหลัง ๑ จากโครงการบ้านจัดสรร จึงได้เข้าไปในโครงการบ้านจัดสรร น. ได้พบกับพนักงานขายของโครงการฯ ชื่อว่า นางสาว ข. นางสาว ข. ได้ต้อนรับและไปพานาย ก. ไปดูบ้านตัวอย่างในโครงการบ้านจัดสรร น. ปรากฏว่า นาย ก. ชื่นชอบบ้านในโครงการจัดสรร น. มาก จึงได้แจ้งความจำนงต่อนางสาว ข. ว่า นาย ก. สนใจบ้านของโครงการจัดสรร น. และต้องการซื้อบ้านในโครงการจัดสรร น. ของทราบราคาบ้านจัดสรรในโครงการที่นาย ก. ชอบ นางสาว ข. ได้เสนอขายบ้านที่นาย ก. ชื่นชอบในราคา ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยนางสาว ข. ขอให้นาย ก. วางเงินมัดจำในการจองบ้านจัดสรรในโครงการ เป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท นาย ก. ตกลงที่จะซื้อบ้านจากโครงการจัดสรร น. จึงได้นำเงินสดจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท มาส่งมอบให้แก่นางสาว ข. เป็นเงินจองบ้านจัดสรรในโครงการ โดยไม่มีข้อตกลงอื่นใดอีก ส่วนที่เหลืออีกจำนวน ๔,๙๕๐,๐๐๐ บาท ให้นาย ก. ไปชำระในวันทำสัญญาซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน   จะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างว่า นางสาว ข. ได้เสนอขายบ้านในโครงการบ้านจัดสรร น. ให้แก่นาย ก. เมื่อนาย ก. ได้แสดงเจตนากับนางสาว ข. ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ย่อมก่อให้เกิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และนางสาว ข. ได้เรียกให้นาย ก. ส่งมอบเงินจอง จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท ในวันดังกล่าว นาย ก. ตกลง จึงเป็นการแสดงเจตนาที่จะให้มีมัดจำระหว่างกันเกิดขึ้น เงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นมัดจำในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่าง นาย ก. กับเจ้าของโครงการบ้านจัดสรร น. โดยผ่านตัวแทนที่ชื่อว่า นางสาว ข. 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า มัดจำ นั้น มีเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนดว่า จะต้องเป็นการให้มัดจำกันในขณะทำสัญญา ต้องเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าในตัวเอง และต้องมีการแสดงเจตนาของคู่สัญญาให้สิ่งนั้นๆ เป็นมัดจำด้วย
เมื่อเป็นมัดจำตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว มัดจำยังมีผลทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาอีกด้วย กล่าวคือ มัดจำนั้นเป็นหลักฐานในการทำสัญญาระหว่างกัน สามารถนำการชำระเงินมัดจำหรือให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำนั้น มาเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีต่อศาลได้
โดยหลักเกณฑ์ของมัดจำนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “มาตรา ๓๗๗ เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”
เมื่อเป็นมัดจำแล้ว หากได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนทุกประการแล้ว หรือหากมีการผิดสัญญาระหว่างกันแล้ว กฎหมายได้กำหนดผลทางเกี่ยวกับมัดจำไว้ ๓ ประการด้วยกัน คือ ๑.ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ ๒.ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น และ ๓.ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
โดยในกรณี แรกนั้น ที่ว่า ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ เป็นกรณีของการที่ได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ผู้ส่งมอบมัดจำให้แก่อีกฝ่ายมีสิทธิตามกฎหมายอยู่ ๒ ประการ คือ ให้ส่งคืนมัดจำแก่ผู้วางมัดจำ หรือ ให้เอามัดจำนั้นเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาแล้วชำระหนี้ในส่วนที่เหลือ

ส่วนในกรณีที่สองนั้น ที่ว่า ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น เป็นกรณีที่ผู้วางมัดจำไม่ได้ปฏิบิติตามสัญญาหรือเรียกว่า ผิดสัญญา นั้นเอง แต่ทั้งนี้ ในกรณีนี้ ยังรวมถึงการชำระหนี้ไม่อาจเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะฝ่ายผู้วางมัดจำเป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้วางมัดจำจะต้องรับผิดชอบ กล่าวคือ ผู้รับมัดจำย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำที่วางเป็นประกันได้
ส่วนในกรณีที่สาม นั้น ที่ว่า ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ เป็นกรณีของผู้รับมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญา จะต้องส่งคืนมัดจำให้แก่ผู้วางมัดจำ ในกรณีนี้ ยังรวมถึง การชำระหนี้ไม่อาจเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะฝ่ายผู้รับมัดจำเป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้รับมัดจำจะต้องรับผิดชอบ กล่าวคือ ต้องส่งมอบมัดจำให้คืนให้แก่ผู้วางมัดจำ
ทั้งสามกรณีนี้ เป็นผลทางกฎหมายเกี่ยวกับ การปฏิบัติตามสัญญาและไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา
โดยผลทางกฎหมายของมัดจำทั้งสามประการข้างต้น มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ใน “ มาตรา ๓๗๘  มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ”
เมื่อได้ศึกษากรณีของมัดจำมาพอสมควรแล้ว อย่างให้ ศึกษา กรณีตัวอย่างจากคำตัดสินของศาล เพื่อเป็นที่เข้าใจเกี่ยวกับมัดจำ ซึ่งตามหัวข้อการวางเงินมัดจำในการซื้อบ้านเป็นมัดจำนั้น จะถือเอาคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องมา เขียนไว้ในบทความนี้ ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2547 โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน ดังนั้น เงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้