สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เมื่อผู้ค้ำประกันไม่ได้รับหนังสือทวงถามจะมีผลอย่างไร

ในที่นี้หลายๆท่านเคยได้ไปทำสัญญาค้ำประกันไว้กับเจ้าหนี้ของคนที่รู้จัก  เช่น  เพื่อนที่ทำงาน  ญาติมิตร  หรือลูกหลาน  เป็นต้น  สัญญาค้ำประกันมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ซึ่งมีอยู่หลายมาตราที่ได้บัญญัติหน้าที่และความรับผิด  รวมถึงสิทธิของผู้ค้ำประกันเอาไว้  แต่โดยหลักแล้ว  ผู้ค้ำประกันนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันลูกหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้  เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้  โดยกฎหมายกำหนดว่า  เจ้าหนี้จะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้  ภายใน  ๖๐  วัน  นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ได้บัญญัติไว้ใน   
มาตรา ๖๘๖  วรรคแรกว่า  เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า  หากส่งจดหมายไปแล้ว  ผู้ค้ำประกันไม่อยู่ที่บ้านซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบุรุษไปรษณีย์จะออกหนังสือแจ้งทิ้งไว้ที่หน้าบ้านของผู้ค้ำประกันว่า  ให้มารับหนังสือทวงถามภายในระยะเวลาอันสมควร  แต่หากผู้ค้ำประกันไม่ได้ไปรับหนังสือบอกกล่าวภายในระยะเวลาที่บุรุษไปรษณีย์ได้ระบุไว้ในหนังสือแจ้ง  บริษัท  ไปรษณีย์ไทย  จำกัด(มหาชน)  จะส่งหนังสือทวงถามดังกล่าวกลับไปยังผู้ส่งหรือเจ้าหนี้  จึงทำให้ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับหนังสือทวงทวงนั้น  จึงต้องพิจารณาว่า  ผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้วหรือไม่  และจะมีผลตามกฎหมายอย่างไร

               

ข้อพิจารณานี้  จะเห็นได้ว่า  การส่งหนังสือทวงถามของเจ้าหนี้  เจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว  แต่เป็นหน้าที่ของผู้ค้ำประกันที่จะต้องไปรับหนังสือทวงถาม  หากไม่ได้รับหนังสือทวงถามเพราะเหตุไม่ได้

 
 

รับภายในระยะเวลาที่บุรุษไปรษณีย์กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งแล้ว  ย่อมถือว่าเป็นการรับหนังสือทวงถามไว้โดยถูกต้องแล้ว  โดยข้อพิจารณาดังกล่าวนี้  ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2562
ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใดๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใดๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว" ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้
แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน

 

บทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม

-เมื่อเจ้าหนี้ไม่ได้ส่งหนังสือทวงถามให้ผู้ค้ำประกันก่อนฟ้องคดีจะมีผลอย่างไร