สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เลิกจ้างได้ค่าชดเชยอย่างไรและเงื่อนไขการได้ค่าชดเชย

ก่อนอื่นนั้น  การจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย  จะต้องมีความสัมพันธ์ทางด้านกฎหมาย  ระหว่าง  นายจ้างและลูกจ้างเสียก่อน  หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  เป็น “สัญญาจ้างแรงงาน”  นั้นเอง  จึงมีปัญหาในใจของผู้อ่านที่ต้องการถามว่า  แล้วสัญญาจ้างแรงงานจะต้องมีทำเป็นสัญญาที่เป็นกระดาษลงลายมือชื่อระหว่างนายจ้างและลูกจ้างหรือไม่  คำตอบว่า  ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาที่เป็นกระดาษ  เพียงแต่มีการตกลงว่าต้องการจ้างแรงงานและจ้างเงินค่าจ้างเป็นสินจ้างในการทำงานนั้นๆ  ให้ก็เป็นสัญญาจ้างแรงงานได้ตามกฎหมายแล้ว ตัวอย่างเช่น  นายร่ำรวยต้องการจ้างแรงงานนายแดงมาทำงานที่ร้านอาหาร  ทำงานตั้งแต่  8  โมงเช้า  เลิกงาน  5 โมงเย็น  โดยไม่ได้มีการเช็นเอกสารหรือหนังสือสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายร่ำรวยกับนายแดง  เช่นนี้  ความสัมพันธ์ระหว่าง  นายร่ำรวยกับนายแดง  ก็เป็นการจ้างแรงงานที่มีสัญญาจ้างแรงงานระหว่างกันแล้ว  เป็นต้น  ทั้งนี้  คำพิพากษาของศาลฎีกาที่   2652/2529  ได้มีคำตัดสินว่า  แม้สัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 จะได้ทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะได้จดทะเบียนเป็นบริษัทก็ตามแต่ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อตั้งบริษัทและสัญญาดังกล่าวมี ส. ผู้เริ่มก่อการของบริษัทซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการบริษัทเมื่อจดทะเบียนแล้วเป็นผู้ลงชื่อในนามของบริษัทจำเลยในฐานะผู้ว่าจ้างและได้ทำสัญญากันก่อนจดทะเบียนตั้งบริษัทเพียง 7 วัน ทั้งหลังจากบริษัทมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วก็ยอมรับผลแห่งสัญญาจ้างดังกล่าวจ้างโจทก์ที่ 1 และจ่ายค่าจ้างให้ต่อมาดังนี้โจทก์ที่ 1 จึงเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยแล้ว  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 หาได้บัญญัติว่า สัญญาจ้างแรงงานจะต้องทำเป็นหนังสือไม่ เพียงแต่ตกลงจ้างและให้สินจ้างกันสัญญาจ้างแรงงานย่อมเกิดแล้ว ส. กรรมการบริษัทจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้ทำงานให้บริษัทจำเลยและจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 2 ตลอดมาเป็นเวลา 4 เดือน ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าสัญญาที่ทำเป็นหนังสือดังกล่าว ส. ทำไปโดยชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทจำเลยหรือไม่
แต่การจ้างบ้างอย่างไม่มีสภาพเป็นสัญญาจ้างแรงงาน  แต่อาจจะเป็นสัญญาจ้างทำของก็ได้  หากเป็นสัญญาจ้างทำของแล้ว  เมื่อมีการเลิกจ้างนายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายนั้น  แล้วปัญหานี้  จะแยกได้จากอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างว่า  นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างในการทำงานหรือไม่  หากว่า  นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างแล้ว  สัญญาจ้างนั้นก็เป็นสัญญาจ้างแรงงาน  ตัวอย่างเช่น  นายร่ำรวยกำหนดให้นายแดงต้องมาทำงานที่ร้านอาหารเวลา  8  โมงเช้าทุกวันและเลิกงาน  5 โมงเย็น  โดยเมื่อมาทำงานและเลิกทำงานจะต้องตอกบัตรเข้าทำงานและออกทำงานทุกวัน  และนายแดงต้องทำการต้อนรับแขกของร้านอาหารและจดเมนูอาหารที่ลูกค้ามาสั่งเพื่อนำไปให้แก่พ่อครัวในห้องครัว  โดยนายแดงไม่ได้การคิดหรือเสนอแนวทางการทำงานของตนเองการให้งานบรรลุผลสำเร็จโดยวิธีการของนายแดงเอง  เพียงแต่ต้องทำตามนายร่ำรวยสั่งเท่านั้น  กรณีเช่นนี้  เรียกได้ว่า  นายร่ำรวยมีอำนาจบังคับบัญชานายแดงในการทำงานตามสัญญาจ้าง  ความสัมพันธ์ระหว่างนายร่ำรวยกับนายแดง  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน  เป็นต้น  แต่หากนายจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชานายแดงในการทำงานแล้ว  และนายร่ำรวยต้องการเพียงผลสำเร็จของงานนั้นๆ  เท่านั้น  สัญญาจ้างระหว่าง  นายร่ำรวยกับนายแดง  จะเป็นสัญญาจ้างทำของ  ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน  เมื่อมีการเลิกจ้าง  นายแดงจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย  ตัวอย่างเช่น  นายร่ำรวยจ้างนายแดงให้มาทำงานร้านอาหาร  นายแดงมีหน้าที่มาร้องเพลงที่ร้านอาหารในเวลากลางคืน  วันไหนที่นายแดงมาร้องเพลงที่ร้านอาหารไม่ได้  นายแดงต้องหาคนร้องเพลงมาร้องแทนในวันนั้นๆ แทน  นายร่ำรวยได้กำหนดว่าจะต้องร้องเพลงอะไร  เป็นต้น  ในกรณีเช่นนี้  สัญญาระหว่างนายร่ำรวยกับนายแดง  จะเป็นสัญญาจ้างทำของ  ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน  เมื่อเข้าใจแล้วว่า  สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของมีความแต่งต่างกันอย่างไรแล้ว  ต่อไปจะเป็นในเรื่องของ  อัตราค่าชดเชยว่า  มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่บ้าง 
ในเรื่องอัตราการได้รับค่าชดเชยนั้น  เป็นไปตามระยะเวลาระหว่างที่นายจ้างและลูกจ้างมีความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันมานานเพียงใด  ทั้งนี้  เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541  มาตรา  118  ว่าหลักว่า  ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง  ดังต่อไปนี้
(๑)ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ  ๑๒๐  วัน  แต่ไม่ครบ  ๑  ปี  ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย  ๓๐  วัน ... 
(๒)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ  ๑  ปี  แต่ไม่ครบ  ๓  ปี  ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย  ๙๐  วัน..
(๓)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ  ๓  ปี  แต่ไม่ครบ  ๖  ปี  ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย  ๑๘๐  วัน.. 
(๔)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ  ๖  ปี  แต่ไม่ครบ  ๑๐  ปี  ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย  ๒๔๐  วัน..
(๕)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ  ๑๐  ปี  แต่ไม่ครบ  ๒๐  ปี  ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย  ๓๐๐  วัน..
จากมาตรา  ๑๑๘  ดังกล่าวทำให้เห็นว่า  ลูกจ้างที่ทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานมาแล้วไม่ถึง  ๑๒๐  วัน  จะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยมากฎหมาย  แต่หากทำงานจนครบ  ๑๒๐  วัน  ก็จะได้ค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด  โดยทำงานมาแล้วเกินกว่า  ๑๒๐  วัน  แต่ไม่ครบ  ๑  ปี  จะได้รับค่าชดเชย  ๓๐  วัน  ของค่าจ้าง  เป็นต้น  ยกตัวอย่างเช่น  นายร่ำรวยว่าจ้างนายแดงให้มาทำงานร้านอาหาร  ตั้งแต่วันที่  ๑  มกราคม  ๒๕๕๐  ค่าจ้างเดือนสุดท้าย  เดือนละ  ๓๐,๐๐๐  บาท  ต่อมานายร่ำรวยเลิกจ้างนายแดงเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจจึงต้องลดอัตราลูกจ้างลง  โดยได้เลิกจ้างนายแดงเมื่อวันที่  ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๒  ถามว่า  นายแดงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายหรือไม่  คำตอบ  นายแดงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย  เพราะความสัมพันธ์ระหว่างนายร่ำรวยกับนายแดงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน  นายแดงทำงานกับนายร่ำรวยมาแล้วเป็นระยะเวลา  ๑๒  ปี  ๒๘  วัน  นายแดงได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายจำนวน  ๓๐๐  วัน  คิดเป็นเงินจำนวน  ๓๐๐,๐๐๐  บาท  (  หลักการคิดคำนวณ   ให้เอาค่าจ้างรายเดือน  หาร  ๓๐  แล้วได้ผลลัพธ์อย่างไร  คือค่าจ้างรายวันแล้วนำมาคูณด้วยอัตราค่าชดเชยที่ได้รับตามกฎหมาย   ตัวอย่าง  ค่าจ้าง  เดือนละ  ๓๐,๐๐๐  บาท  หาร  ๓๐  เท่ากับ  ๑,๐๐๐  บาท  มีสิทธิได้รับค่าชดเชย  ๓๐๐  วัน  นำ  ๓๐๐  มาคูณกับ  ๑,๐๐๐  บาท  ได้ผลลัพธ์  ๓๐๐,๐๐๐  บาท  เป็นต้น )
แล้วอย่างไรเลิกว่าเลิกจ้าง  ตามกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  มาตรา  ๑๑๘  วรรคสอง  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541  กำหนดว่า  การเลิกจ้างตามมาตรานี้  หมายความว่า  การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด  และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป  จากหลักเกณฑ์ตามกฎหมายดังกล่าว  กำหนดเอาไว้กว้างๆว่า  หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้  เท่ากับเป็นการเลิกจ้าง  ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยทั้งสิ้น  ตัวอย่างเช่น  นายร่ำรวยจ้างนายแดงให้มาทำงานที่ร้านอาหารเป็นพนักงานต้อนรับ  ต่อมานายร่ำรวยได้แจ้งกับนายแดงว่า  นายแดงไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไปเนื่องจากที่ร้านได้รับนายฟ้ามาทำงานแทนนายแดงแล้ว  และให้ไปรับเงินเดือนเดือนนี้ที่ฝ่ายการเงิน  เดือนหน้าไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว  เท่ากับเป็นการเลิกจ้างนายแดงแล้ว  นายแดงมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากนายร่ำรวยได้หากว่านายร่ำรวยไม่ชำระค่าชดเชยพร้อมเงินเดือนให้แก่นายแดง   เป็นต้น
ต่อไปเป็นปัญหาว่า  มีกรณีใดบ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างบ้าง

 
 

การที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้น  มีหลายกรณี  ดังนี้
๑.นายจ้างต้องการให้ลูกจ้างทำงาน  แต่ลูกจ้างสมัครใจและประสงค์ต้องการเลิกทำงานให้แก่นายจ้าง  โดยทำเป็นใบลาออก  ในกรณีเช่นนี้  ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย
๒.  เป็นกรณีที่ลูกจ้างทำงานให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้าง  หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย   ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเช่นกัน  ทั้งนี้เป็นไปตามบดบัญญัติมาตรา  ๑๑๙  แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ.  2541  ดังนี้  มาตรา 119  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ 
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย      
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ตัวอย่าง  กรณีนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย  ดังนี้
ตัวอย่างที่  ๑  โจทก์เป็นผู้จัดการแผนกคลังสินค้ามีหน้าที่จัดทำเอกสารใบควบคุมการส่งสินค้าเพื่อจ่ายสินค้า ออกจากคลังสินค้าและจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ก่อนนำสินค้าขึ้นรถขนส่งจะต้องมีการตรวจสอบรายการสินค้าให้ครบถ้วนเสียก่อน การที่โจทก์กระทำผิดตามหนังสือเตือนครั้งแรกโดยไม่ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยให้บริษัทขนส่งรับสินค้าขึ้นรถขนส่งโดยไม่มีลายมือชื่อรับสินค้าของเจ้าหน้าที่ของรถขนส่ง และกระทำผิดครั้งสุดท้ายโดยให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำสินค้าขึ้นรถขนส่งทั้งที่ยังไม่มีใบควบคุมการส่งสินค้าและไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนสินค้านั้น ล้วนเป็นการกระทำผิดในหน้าที่ของโจทก์เกี่ยวกับการจัดทำใบควบคุมการส่งสินค้าและตรวจสอบการส่งสินค้าให้ถูกต้องครบถ้วนถือได้ว่าโจทก์กระทำความผิดทั้งสองครั้งในเรื่องเดียวกัน เมื่อจำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์มาก่อนแล้วโจทก์กระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีกภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์กระทำผิดครั้งแรก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และที่โจทก์กระทำผิดครั้งสุดท้ายเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และกรณีดังกล่าวมีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4110/2561)

ตัวอย่างที่  ๒.  จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการขุดเจาะปิโตรเลียม โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำงานตำแหน่งวิศวกรตรวจวัดขณะขุดเจาะ ประจำแท่นขุดเจาะน้ำมัน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โจทก์ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะออกปฏิบัติงานภาคสนามเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2559)

ตัวอย่างที่  ๓.  โจทก์เป็นผู้จัดการสาขาของจำเลย เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากจำเลยให้เป็นผู้บริหารระดับสูงจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการเงินโดยเคร่งครัดเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและป้องปรามมิให้เกิดการทุจริต การที่โจทก์เบิกเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 1,400 บาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6691/2559)

ตัวอย่างที่  ๔. โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุที่โรงงานหลังคาเหล็ก จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงานให้พนักงานฝ่ายพัสดุปฏิบัติตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจำเลย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงาน จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมาก แม้สาเหตุที่พัสดุขาดหายไปอาจเกิดจากการทุจริตของผู้อื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยก็ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้พัสดุสูญหายได้ง่ายขึ้น และหากโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยอย่างเคร่งครัดแล้วพัสดุอาจจะไม่ขาดหายก็ได้ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามยังยึดติดกับการปฏิบัติอย่างเดิมๆ เช่นเคยปฏิบัติมาก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่นำพาต่อระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันจะทำให้การบริหารจัดการงานของนายจ้างไม่สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามแม้จะไม่ปรากฏว่ากระทำโดยทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามมาตรา 119 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ทั้งการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15117 - 15120/2558)

การที่นายจ้างไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในทันทีมีผลอย่างไร
หลักเกณฑ์  มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตามมาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 121 และมาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

จากหลักกฎหมายดังกล่าว  หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างแล้ว  จะต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  เงินที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง 

ดังนั้น  นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้าง  มิฉะนั้น  จะต้องถูกเรียกดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ  15  ต่อปี