สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ใช้โซ่ที่ถือมาตีศีรษะเป็นความผิดฐานใด

คำถาม การที่คนร้ายใช้โซ่ที่ถือมาตีศีรษะของผู้เสียหาย จนทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จะถือว่ามีเจตนาฆ่าหรือมีเจตนาทำร้ายร่างกาย

คำตอบ ถือว่าผู้ร้ายมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7958/2555
จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ ถือได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกระทงหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 เห็นผู้เสียหายตบหน้าจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 จึงใช้โซ่ที่ถือมาตีศีรษะผู้เสียหายไป 1 ครั้ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายซึ่งเป็นเจตนาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แยกต่างหากจากเจตนาบุกรุกในตอนแรกได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 362, 364, 365, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 365 (ที่ถูกต้อง มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยทั้งหกอุทธรณ์


ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 1 ปี นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งหกฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 5 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 ใช้โซ่ตีศีรษะผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ว่า จำเลยทั้งห้ามีเจตนาบุกรุกเข้าบ้านผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยทั้งห้าฎีกาทำนองว่าบ้านของผู้เสียหายอยู่ใกล้ถนนมาก จำเลยทั้งห้าเพิ่งรู้ว่าเป็นเขตพื้นที่บ้านของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลนั้น เห็นว่า ในชั้นฎีกาจำเลยทั้งห้ายอมรับว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายนั้น จำเลยทั้งห้ายืนอยู่บริเวณหน้าบ้านผู้เสียหาย เหตุที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายเนื่องจากผู้เสียหายตบหน้าจำเลยที่ 4 ในชั้นสอบสวนเมื่อมีการแจ้งข้อหาจำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลา

กลางคืนโดยมีอาวุธ จำเลยทั้งห้าก็ให้การรับสารภาพโดยระบุรายละเอียดว่า จำเลยทั้งห้าขับรถจักรยานยนต์ตามนายอำนวยเข้าไปที่บ้านของนางละเอียดภริยาของผู้เสียหายเพื่อเรียกให้นายอำนวยออกมาพูดจากัน อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งห้าทราบดีว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพื้นที่บ้านของผู้เสียหายแต่ก็ยังติดตามนายอำนวยเข้าไป จำเลยทั้งห้ามิได้นำสืบโต้แย้งว่าคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวไม่เป็นความจริง กรณีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งห้าทราบดีว่าบริเวณที่จำเลยทั้งห้าเข้าไปนั้นอยู่ในเขตพื้นที่บ้านของผู้เสียหายซึ่งเป็นสามีของนางละเอียด ฎีกาของจำเลยทั้งห้าที่ว่าจำเลยทั้งห้าไม่มีเจตนาบุกรุกนั้นฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์มีประจักษ์พยานมาสืบ 3 ปาก คือ นายอำนวย ผู้เสียหาย และนางละเอียดภริยาผู้เสียหาย ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 4 คงไม่พอใจนายอำนวยจึงเข้าไปต่อว่าและผลักนายอำนวยจนล้มลง แต่ผู้เสียหายอยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่พอใจที่จำเลยที่ 4 เข้าไปกระทำการเช่นนั้นต่อหน้าผู้เสียหายจึงเข้าไปห้าม จำเลยที่ 4 ไม่เชื่อฟัง ผู้เสียหายใช้มือตบหน้าจำเลยที่ 4 เพื่อเป็นการสั่งสอน จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เกิดอารมณ์ชั่ววูบที่เห็นผู้เสียหายทำร้ายเพื่อนของตนจึงใช้โซ่ที่ถือมาตีผู้เสียหายที่ศีรษะไป 1 ครั้ง เมื่อผู้เสียหายเข้าไปในบ้านและใช้วิทยุสื่อสารแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว จำเลยทั้งหมดเกรงกลัวความผิดจึงหลบหนีไป เช่นนี้ ตามรูปเรื่องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้ากับผู้เสียหายมีสาเหตุกันมาก่อน ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งห้าก็มิได้มีเจตนาจะมาหาหรือมุ่งประสงค์จะมาทำร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ใช้โซ่ตีศีรษะผู้เสียหาย เห็นได้ว่า เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในขณะนั้นเพราะผู้เสียหายตบหน้าจำเลยที่ 4 ก่อน เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า จำเลยอื่น ๆ สมคบกันเพื่อมาทำร้ายผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุก็ไม่มีการพูดจายุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยอื่นร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไป ตามฎีกาจำเลยทั้งห้ามีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกระทงหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว และจำเลยที่ 1 เพิ่งมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอันมีสาเหตุเนื่องจากผู้เสียหายตบหน้าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมาแล้ว กรณีจึงสามารถแยกเจตนาของจำเลยที่ 1 ออกได้ต่างหากจากเจตนาบุกรุกที่เกิดขึ้นและสำเร็จไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 เฉพาะข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ไว้ มีกำหนดคนละ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งห้าฟัง และให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งห้า โดยให้จำเลยทั้งห้าไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 4 เดือนต่อครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

 

บทความที่น่าสนใจ

- อย่างไรเรียกว่า ข่มขืน สำเร็จ ตามกฎหมาย

-ทำร้ายร่างกายคนในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมได้หรือไม่

-ใช้ท่อนไม้และขวดขว้างใส่แต่ไม่โดนมีความผิดฐานใด