คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2543

ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดว่าในระหว่างการจ้างงานหรือภายใน 5 ปีนับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมาร์(พม่า) เกี่ยวกับกิจการขนย้ายของตามบ้านฯ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพแข่งขันกับโจทก์โดยจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจนมิได้ห้ามประกอบอาชีพปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงได้ขอบเขตพื้นที่ก็ห้ามเฉพาะในกลุ่มประเทศในแหลมอินโดจีนมิได้รวมถึงประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ ด้วย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่แข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่ชอบในเชิงของธุรกิจ ไม่เป็นการปิดการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายผู้จัดการสาขาบริษัทเจ วี เค อินโด - ไชน่า(ลาว) จำกัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,200 ดอลลาร์สหรัฐ กับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหนังสือฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 และวันที่ 29ธันวาคม 2536 การทำงานของจำเลยในตำแหน่งดังกล่าวย่อมล่วงรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับธุรกิจและบริษัทในเครือตลอดจนความลับในทางการค้าของโจทก์ เพื่อป้องกันความเสียหายของโจทก์ โจทก์และจำเลยตกลงกันว่าในขณะที่จำเลยเป็นลูกจ้างและภายหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเป็นระยะเวลา 5 ปี จำเลยจะไม่กระทำการใดหรือเข้าทำงานในบริษัทคู่แข่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง การขนย้ายและจัดเก็บสินค้าภายในประเทศไทยสาธารณรัฐเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและพม่า หากฝ่าฝืนจำเลยตกลงจ่ายเงินให้แก่บริษัทเจ วี เค อินโด - ไชน่ามูฟเวอร์ส (ลาว) จำกัด บริษัทดาต้าเซฟ จำกัด และโจทก์ จำนวน1,000,000 บาท เมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุด จำเลยได้เข้าทำงานกับบริษัทเอส เค โอ มูฟวิ่ง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเป็นคู่แข่งกับโจทก์จำเลยใช้ประโยชน์จากการล่วงรู้ความลับในทางการค้าเพื่อจูงใจให้ลูกค้าที่เคยใช้บริการของโจทก์ไปใช้บริการของบริษัทเอส เค โอ มูฟวิ่ง จำกัดเป็นเหตุให้โจทก์สูญเสียรายได้เป็นเงิน 30,007.95 ดอลลาร์สหรัฐ(อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 24 บาท) คิดเป็นเงินไทย750,198.75 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานจำเลยจึงต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 1,750,198.75 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 1,750,198.75 บาท และห้ามจำเลยทำงานหรือกระทำการอันเป็นการแข่งขันในทางการค้ากับโจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยแจ้งชัดว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร อันจะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ถูกต้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยได้ผิดข้อตกลงการทำงานโจทก์อย่างไรและทำสัญญาเมื่อใด ลูกค้ารายใดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเสนอราคาต่ำกว่าโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม นอกจากนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นเอกสารเท็จ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าหลายฉบับโดยอ้างว่าจะนำไปใช้ในทางธุรกิจและเพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินเดือนและเสียภาษีประกอบกับการเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 1 ธันวาคม 2536 แต่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยลงวันที่ 29 ธันวาคม 2536 อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยแสดงเอกสารอันเป็นเท็จจำเลยไม่เคยเข้าทำงานกับบริษัทเอส เค โอมูฟวิ่ง จำกัด ดังที่โจทก์กล่าวอ้างเนื่องจากจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2536 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย จ.5 ไว้ต่อกันแต่ข้อความในสัญญาแนบท้ายดังกล่าวที่ว่าในระหว่างการจ้างงานหรือภายใน 5 ปีนับแต่สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง จำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งหรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ ยกเว้นบริษัทเจ วี เค อินเตอร์เนชั่นแนล มูฟเวอร์ส จำกัด และบริษัทดาต้าเซฟ จำกัด ข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมถึงประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมาร์ (พม่า) อันเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยในการประกอบอาชีพครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 5 ประเทศ เป็นระยะเวลาถึง 5 ปี เป็นข้อตกลงที่รักษาผลประโยชน์ของโจทก์เพียงลำพังฝ่ายเดียวและเกินสมควร อีกทั้งขณะที่จำเลยทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สั่งสอนอบรมหรือให้จำเลยเรียนรู้งานเฉพาะทาง อันจะพอถือได้ว่าโจทก์ได้ลงทุนให้ประโยชน์ตอบแทนแก่จำเลยเพื่อแลกเปลี่ยนต่อการที่จำเลยจะต้องจำยอมไม่ทำงานหรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ ข้อตกลงในสัญญาแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย จ.5 จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ข้อตกลงที่ห้ามจำเลยประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์เป็นระยะเวลา 5 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 5 ประเทศ ตามเอกสารหมายจ.5 นั้น เป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า สัญญาแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมายจ.5 มีใจความว่า ในระหว่างการจ้างงานหรือภายใน 5 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงจำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ยกเว้นบริษัทเจ วี เค อินเตอร์เนชั่นแนล มูฟเวอร์ส จำกัด และบริษัทดาต้าเซฟ จำกัด ข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมถึงประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมาร์(พม่า) สำหรับบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หมายถึงบริษัทใด ๆที่ทำการค้าเกี่ยวกับการขนย้ายของตามบ้านระหว่างประเทศ การขนย้ายสำนักงานในท้องถิ่น การขนย้ายของตามบ้านในท้องถิ่นธุรกิจรับจ้างการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางทะเล ธุรกิจรับจัดการขนส่งงานนิทรรศการคลังสินค้าและการจัดจำหน่ายและบริการจัดเก็บเอกสาร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจะต้องชำระเงิน 1,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์บริษัทเจ วี เค อินโดจีน มูฟเวอร์ส (ลาว) จำกัดหรือบริษัทดาต้าเซฟ จำกัด ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจนมิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยสามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศในแหลมอินโดจีนมิได้รวมถึงประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ ด้วย ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยความสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดการทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ ข้อตกลงดังกล่าวนี้จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ ปรากฏว่าหลังจากโจทก์เลิกจ้างจำเลยแล้ว ต่อมาอีก 1 ปี จำเลยได้ไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับโจทก์ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาซึ่งจำเลยต้องรับผิด ดังนั้น ศาลแรงงานกลางจึงต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อ 3 เกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาซึ่งศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยต่อไป และแม้ความรับผิดดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับแต่เบี้ยปรับก็เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งซึ่งการกำหนดค่าเสียหายนั้นเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดให้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ได้"

พิพากษากลับ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดในเรื่องค่าเสียหายตามสัญญา แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่