คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2563

เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ 3 รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 87 (1)การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยแต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252

 

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1600 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมประเภทขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสี่หรือคนใดคนหนึ่งเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ในการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนดังกล่าว โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแทนโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือคนใดคนหนึ่งภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยที่ 4 เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามหรือไม่กระทำการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 4 เพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับใหม่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับโจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1600 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 1600 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 เพิกถอนการจดทะเบียนโอนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1600 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดเลขที่ 1600 แก่โจทก์ทั้งสี่ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความศาลละ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า นายพิม ผู้ตาย จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1473/2549 จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 4 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 ผู้ตายถึงแก่ความตาย วันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วันที่ 22 มกราคม 2557 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1600 เนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 53 ตารางวา ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวเพียงผู้เดียว วันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไถ่ถอนการขายฝาก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 3 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และสัญญาการยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายกับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2544 ก่อนที่ผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ถึง 5 ปี กรณีเป็นที่สงสัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 การคิดส่วนแบ่งและการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย โดยต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้ผู้ตายและจำเลยที่ 1 ได้ส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1533 จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนผู้ตาย ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม คือ โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ตามมาตรา 1599 มาตรา 1629 (1) และจำเลยที่ 1 คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร ตามมาตรา 1599 มาตรา 1629 (1) และวรรคสอง ประกอบมาตรา 1635 (1) โดยโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายคนละ 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตาย 1 ใน 5 ส่วน ทำให้โจทก์ทั้งสี่มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งแปลงคนละ 1 ใน 10 ส่วน จำเลยที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทั้งหมด 6 ใน 10 ส่วน เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 มีกำหนดเวลา 6 เดือนนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลกระทำการโดยสุจริต ประกอบกับโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่า แม้จำเลยที่ 3 รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 87 (1) อีกทั้งการที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วย แต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 และที่ 4 อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 นิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และนิติกรรมการจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้นพิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่