คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 50,791,081 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ส่วนที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าอะไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร เมื่อใดและครบกำหนดชำระหนี้เมื่อใด อีกทั้งมิได้แนบเอกสารที่แสดงรายละเอียดมาท้ายคำฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาเกินกว่าสองหมื่นบาท กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อซึ่งได้รับมอบสินค้าจากโจทก์ผู้ขายแล้วผิดนัด ขอให้บังคับชำระค่าสินค้า กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายหรือไม่

สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าเฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องรวมถึงหนี้ตามสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันด้วย

จำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ค้ำประกัน อันเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสาม ว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 จำเลยที่ 2 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และจำเลยที่ 2 คืนหลักประกันไป จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึงมาตรา 701

การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 (เดิม) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 54,792,669.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ของต้นเงิน 50,791,081 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 54,792,669.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ของต้นเงิน 50,791,081 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 มีนาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าทอง นาก เงิน เพชร พลอย และอัญมณีอื่น ได้มอบอำนาจให้นายเอนกเป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ตั้งแต่กลางปี 2550 โดยจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าประเภทเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ ซึ่งโจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 และเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนมกราคม 2551 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าสินค้าแก่โจทก์เป็นเงิน 54,000,000 บาทเศษ ต่อมาต้นปี 2551 จำเลยที่ 1 ประสงค์จะสั่งซื้อสินค้าประเภทเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าสินค้าเดิมกับโจทก์ โจทก์จึงเสนอว่าหากจำเลยที่ 1 จะซื้อสินค้าครั้งใหม่ จำเลยที่ 1 จะต้องทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 จะต้องให้ธนาคารพาณิชย์ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ค่าสินค้าและมอบหนังสือสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการซื้อขาย เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าประเภทเม็ดเงิน (แร่เงิน) (เอจี:ขั้นต่ำร้อยละ 99.99) จากโจทก์ตกลงกันว่า ปริมาณในการสั่งซื้อสินค้าเม็ดเงินดังกล่าวขึ้นอยู่กับการสั่งซื้อตามมูลค่าตามใบแจ้งหนี้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมแล้วไม่เกินกว่าจำนวนของหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ โดยราคาเสนอให้ใช้ราคาสำหรับการส่งมอบทันทีของเงินที่ปรากฏบนจอของรอยเตอร์ การส่งมอบสินค้าตกลงส่งไปยังสถานที่ที่ผู้ซื้อกำหนด จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดหรือเช็คระบุวันครบกำหนดชำระตามกำหนดเวลาที่โจทก์ระบุไว้ตามใบแจ้งหนี้ แต่ต้องชำระก่อนหมดอายุของหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จำเลยที่ 1 ขอให้ธนาคารพาณิชย์ออกให้ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าสินค้า จำเลยที่ 1 ตกลงนำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ที่ยอมรับได้มีกำหนดระยะเวลาของหลักประกัน 1 ปี เป็นหลักประกันร้อยละ 100 ของมูลค่าตามใบแจ้งหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างชำระแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาซื้อขาย โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าสินค้าไปยังธนาคารพาณิชย์ที่ออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 จะให้เอกสารที่จำเป็นทั้งหมดแก่โจทก์เพื่อที่โจทก์จะได้รับเงินจากธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 จำเลยที่ 2 ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันเลขที่ ค. 14670034508000 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว โดยยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาประธาน (สัญญาซื้อขาย) ต่อโจทก์ผู้รับประโยชน์ เป็นเงิน 55,000,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2552 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552 นายเอนก และนายเค กรรมการผู้จัดการของโจทก์ในขณะนั้นไปรับหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจากนายสิรภพ พนักงานของจำเลยที่ 2 สาขาลาดกระบัง จากนั้นโจทก์มีหนังสือสอบถามไปยังจำเลยที่ 2 เพื่อขอให้จำเลยที่ 2 ยืนยันการค้ำประกันดังกล่าว ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2551 จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งยืนยันต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจริง และจำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าที่ค้างชำระเดิมก่อนทำสัญญาซื้อขายจำนวน 54,000,000 บาทเศษ ให้แก่โจทก์ หลังจากทำสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายครั้ง และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าสินค้าค้างชำระเป็นเงิน 50,791,081 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันที่ใบแจ้งหนี้ถึงกำหนดชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,011,588.63 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 54,792,699.63 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าค้างชำระดังกล่าว ต่อมาต้นเดือนธันวาคม 2551 จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ลงวันที่ 23 มกราคม 2552 จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกชำระค่าสินค้าค้างชำระเป็นเงิน 50,791,081 บาท ฉบับที่สองชำระค่าดอกเบี้ยของค่าสินค้าค้างชำระเป็นเงิน 3,531,032.40 บาท ซึ่งก่อนที่เช็คทั้งสองฉบับจะถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เลื่อนการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้งสองฉบับออกไปประมาณ 3 ถึง 4 วัน แต่เมื่อครบกำหนดดังกล่าวโจทก์ไม่สามารถติดต่อจำเลยที่ 1 ได้ จากนั้นวันที่ 29 มกราคม 2552 โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อต้นเดือนมกราคม 2552 ก่อนครบกำหนดตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลยที่ 2 ขอให้ยืนยันการออกหนังสือสัญญาค้ำประกันอีกครั้ง จากนั้นวันที่ 19 มกราคม 2552 จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันเลขที่ ค. 14670034508000 ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2551 จากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ยกเลิกภาระการค้ำประกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 การที่อ้างว่าโจทก์รับคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันไม่เป็นความจริง เพราะหนังสือสัญญาค้ำประกันอยู่ที่โจทก์และโจทก์ไม่เคยคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่เคยแจ้งเรื่องการรับคืนหรือเวนคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ทราบ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 โจทก์มีหนังสือขอรับชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย

จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด จำเลยที่ 2 มีการออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน 2 ประเภท คือ ประเภทแรกเป็นแบบมีกำหนดระยะเวลา ประเภทที่สองเป็นแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งลักษณะกระดาษที่จำเลยที่ 2 ใช้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนังสือสัญญาค้ำประกันแบบที่มีกำหนดระยะเวลาซึ่งผู้ขอออกหนังสือสัญญาค้ำประกันสามารถนำหนังสือสัญญาค้ำประกันมาเวนคืนก่อนครบกำหนดอายุหนังสือสัญญาค้ำประกันได้ โดยผู้ขอออกหนังสือสัญญาค้ำประกันจะต้องนำต้นฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกันมาคืนให้แก่จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 จะยกเลิกภาระตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 จะคืนหลักประกันในการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่ผู้ขอออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ต้องแจ้งเรื่องการเวนคืนและการยกเลิกภาระตามหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ผู้รับประโยชน์ทราบ เพราะผู้ขอออกหนังสือสัญญาค้ำประกันและผู้รับประโยชน์มีความผูกพันตามสัญญาประธานอยู่แล้ว การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันวงเงินเกินกว่า 15,000,000 บาทนั้น เป็นอำนาจอนุมัติของจำเลยที่ 2 สำนักงานใหญ่ เมื่อจำเลยที่ 2 อนุมัติหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้ว ผู้ขอออกหนังสือสัญญาค้ำประกันต้องมารับหนังสือสัญญาค้ำประกันด้วยตนเอง ผู้รับประโยชน์ไม่สามารถรับหนังสือสัญญาค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นวันศุกร์จำเลยที่ 2 ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันแบบมีกำหนดระยะเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 24 มกราคม 2552 โดยจำเลยที่ 1 มีเงินสดจำนวน 55,000,000 บาท เป็นหลักประกันให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งพนักงานของจำเลยที่ 2 สาขาลาดกระบัง ได้โทรศัพท์แจ้งพนักงานจำเลยที่ 2 สำนักงานใหญ่ว่า จะให้จำเลยที่ 1 มารับหนังสือสัญญาค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 สำนักงานใหญ่ และในวันเดียวกันนายเดชา พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือสัญญาค้ำประกันจากนางสาวอรทัย พนักงานของจำเลยที่ 2 สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นอีก 3 วัน จำเลยที่ 2 มีหนังสือยืนยันการออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 นำต้นฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกัน มาขอเวนคืนแก่จำเลยที่ 2 สาขาลาดกระบัง เพื่อยกเลิกภาระค้ำประกัน เมื่อจำเลยที่ 2 สาขาลาดกระบัง ยกเลิกหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้วทำให้จำเลยที่ 2 หมดภาระผูกพันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนเงินสดจำนวน 55,000,000 บาท ที่เป็นหลักประกันการออกหนังสือสัญญาค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คให้แก่โจทก์จำนวน 55,000,000 บาท สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2551 ผู้ที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้ขายคือ นายคีชอล กรรมการของโจทก์ แต่ปรากฏในหนังสือรับรองของโจทก์ว่าระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ไม่มีชื่อนายคีชอล เป็นกรรมการของโจทก์ และสถานที่ส่งมอบสินค้าตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวซึ่งเป็นสำนักงานของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่เลขที่ 160/597 ชั้นที่ 25 อาคารชุดไอทีเอฟ - สีลมพาเลซ ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นเพียงห้องชุดขนาดเล็กไม่สามารถเก็บสินค้าจำนวนมากตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ และได้ทิ้งร้างห้องชุดเลขที่ดังกล่าวมานานแล้ว ทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อว่าไม่มีการซื้อขายกันจริงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2551 โจทก์ได้รับหนังสือสัญญาค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 สาขาลาดกระบังนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะวันที่ 26 มกราคม 2551 เป็นวันเสาร์ จำเลยที่ 2 หยุดทำการ เมื่อเดือนมกราคม 2552 โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 2 ยืนยันหนังสือสัญญาค้ำประกันอีกครั้ง จำเลยที่ 2 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2552 แจ้งโจทก์ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันได้ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน

พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าประเภทเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2551 จำเลยที่ 2 ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 50,791,081 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าอะไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร เมื่อใดและครบกำหนดชำระหนี้เมื่อใด อีกทั้งมิได้แนบเอกสารที่แสดงรายละเอียดมาท้ายคำฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า สัญญาซื้อขายมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เนื่องจากผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายในสัญญาดังกล่าวเป็นบุคคลที่มิใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาเกินกว่าสองหมื่นบาท กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ คดีนี้เป็นกรณีโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อซึ่งได้รับมอบสินค้าจากโจทก์ผู้ขายแล้วผิดนัด ขอให้บังคับชำระค่าสินค้า กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายหรือไม่

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า นายเอนกผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ในช่องผู้นำส่งไม่ใช่ลายมือชื่อนางสาวปารมี และค่าสินค้าเกิดขึ้นก่อนสัญญาค้ำประกันค่าสินค้า จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ไว้จริง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกัน ระบุว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายตามสัญญา ตามสัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าเฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องรวมถึงหนี้ตามสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ที่โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 ทำการฉ้อฉลจำเลยที่ 2 ให้ออกหนังสือค้ำประกันนั้น จำเลยที่ 2 มีเพียงนายวาที ทนายจำเลยที่เบิกความลอย ๆ เท่านั้นว่า พยานเดินทางไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 160/597 อาคารชุดไอทีเอฟ - สีลม พาเลซ ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พบว่าเป็นเพียงห้องชุดขนาดเล็กและไม่สามารถเก็บสินค้าในจำนวนมากตามสัญญาได้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบให้เห็นว่าเป็นการจัดตั้งสำนักงานลอย ๆ ขึ้นมา และไม่มีการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ที่สำนักงานดังกล่าว ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าไม่มีการซื้อขายที่แท้จริงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพื่อสมคบกันทำการฉ้อฉลจำเลยที่ 2 ให้ออกหนังสือค้ำประกัน พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 ทำการฉ้อฉลจำเลยที่ 2 และการที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญาค้ำประกันมาแจ้งยกเลิกภาระค้ำประกันและขอเบิกเงินจำนวน 55,000,000 บาท ซึ่งเป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 ที่วางไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 จัดทำเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายให้โจทก์ในวันเดียวกัน ก็มิได้ถือว่าเป็นพิรุธ ซ้ำยังเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าเคยมีการซื้อขายสินค้ากันจริงจึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าที่ค้างมาก่อน การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 นำต้นฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และขอยกเลิกสัญญาค้ำประกันก่อนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ค้ำประกันจริงตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบ อันเข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสาม ว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 จำเลยที่ 2 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และจำเลยที่ 2 คืนหลักประกันไป จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ถึงมาตรา 701

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า โจทก์ตกลงผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มูลหนี้ซื้อขายแร่เงินได้ระบุวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ไว้ชัดเจนแน่นอน การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เลื่อนการชำระหนี้โดยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า มีผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 (เดิม) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่