คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5117/2562

แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากบ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยตรงก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยอมมาหาที่บ้านแล้วกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อเนื้อตัวร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ยังอยู่ในความดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลยที่ 1 และจำยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารต่อโจทก์ร่วมที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำอันเป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 318, 326 และ 328

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนอาจเข้าถึงได้ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาว ห. ผู้เสียหายที่ 1 และนาง น. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ส่วนข้อหาอื่นผู้เสียหายที่ 1 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ส่วนข้อหาอื่นผู้เสียหายที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องในคดีส่วนแพ่ง ขอให้จำเลยทั้งสอง (ที่ถูกจำเลยที่ 1) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 200,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องในคดีส่วนแพ่งขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 100,000 บาท

จำเลยที่ 1 ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้องขอของผู้เสียหายที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และยกคำร้องขอของโจทก์ร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ

โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันมีลักษณะลามกและประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก ดังที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก บิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายเพราะผู้เยาว์ที่อยู่ในอำนาจปกครองของตนถูกพรากไป ดังนี้ โจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาโจทก์ร่วมที่ 1 เท่านั้นจึงเป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องผู้กระทำความผิดดังกล่าว โจทก์ร่วมที่ 1 บุตรโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่ถูกพรากไปมิใช่ผู้เสียหายในความผิดนี้ โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่อาจฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก

มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์ร่วมที่ 1 มาหาจำเลยที่ 1 โดยเต็มใจหรือไม่ เห็นว่า ตามปกติแล้วบุคคลที่ถูกหลอกลวงเมื่อรู้ความจริง น่าจะต้องแปลกใจและมีการพูดสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพราะนอกจากรูปร่างหน้าตาจำเลยที่ 1 จะไม่เหมือนกับภาพในเฟซบุ๊กแล้วจำเลยที่ 1 ยังเป็นคนพิการเดินไม่ได้ ไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 1 จะไม่มีอาการแปลกใจและไม่มีการสอบถามจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ รวมถึงที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า ก่อนที่โจทก์ร่วมที่ 1 จะมาพบเป็นครั้งแรก โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่เคยส่งภาพใด ๆ มาให้จำเลยที่ 1 นั้นก็ขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การ ที่ว่า ขณะที่ติดต่อกันผ่านเฟซบุ๊กและโทรศัพท์คุยกันโดยไม่เห็นหน้านั้น โจทก์ร่วมที่ 1 เคยส่งภาพถ่ายมาให้ตนดูรวมถึงมีภาพเปลือยที่ตนนำไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊กสาธารณะด้วย ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 มีมารดาเข้าร่วมฟังการสอบสวนและลงชื่อในฐานะผู้ดูแลคนพิการไว้ด้วย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มขู่ จูงใจ หรือบังคับให้ให้การแต่ประการใด ทั้งยังให้การไว้หลังจากเกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2557 ไม่นาน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเวลาที่จะหาข้ออ้างแก้ต่างให้ตนพ้นผิด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนหน้าที่โจทก์ร่วมที่ 1 จะไปพบจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 มีภาพเปลือยร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่แล้ว การที่โจทก์ร่วมที่ 1 เดินทางไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้าน ไม่ว่าจะเต็มใจไปหาเพราะคิดว่าจำเลยที่ 1 คือชายหน้าตาดีที่ตนคุยด้วยผ่านทางเฟซบุ๊กหรือถูกข่มขู่บังคับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 มาถึงบ้านของจำเลยที่ 1 และเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ชายหน้าตาดีตามที่ตนได้คุยด้วย ทั้งยังพิการเดินไม่ได้ รวมถึงสภาพบ้านยังมีลักษณะเป็นเพิงพักอาศัยไม่มีฝาผนังบ้านปิดอยู่ หากโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ถูกข่มขู่หรือถูกบังคับด้วยวิธีการใด และประสงค์จะกลับบ้านโดยไม่ติดต่อกับจำเลยที่ 1 อีก นั้น ย่อมกระทำได้โดยง่าย เพราะโจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มา จำเลยที่ 1 ซึ่งขาพิการย่อมไม่สามารถติดตามโจทก์ร่วมที่ 1 ได้ทัน พฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยินยอมเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ทั้งๆ ที่ถูกจำเลยที่ 1 ใช้ภาพผู้อื่นที่เป็นชายหน้าตาดีหลอกลวงให้โจทก์ร่วมที่ 1 คุยด้วยนานนับเดือน นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของผู้ที่ถูกหลอกลวงที่จะเต็มใจเข้าไปหาด้วยตัวเอง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 1 จำยอมเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ครั้งแรกและจำยอมมาหาจำเลยที่ 1 ในครั้งต่อ ๆ มาเพราะถูกจำเลยที่ 1 ข่มขู่ว่าจะนำภาพเปลือยร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ไปลงเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อมาว่าเมื่อภายหลังโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ยอมทำตามความต้องการของจำเลยที่ 1 โดยไม่ติดต่อและไม่ไปหาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็นำภาพเปลือยร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาความผิดนี้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่นำมารับฟังสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยิ่งมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยินยอมไปหาและเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 เกิดจากการถูกจำเลยที่ 1 ข่มขู่ว่าจะนำภาพเปลือยร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โจทก์ร่วมที่ 1 มิได้เต็มใจไปหาและเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมที่ 1 อาจเดินทางไปหาจำเลยที่ 1 ด้วยความเต็มใจในฐานะคนรักหรือตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ย่อมเป็นไปได้ทั้งสองประการแล้วยกประโยชน์แห่งความสงสัยตามสมควรให้จำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย การที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงและข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ไปหาที่บ้านแล้วมีการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 ตามที่โจทก์ร่วมที่ 1 เบิกความ แต่ในขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 กอดจูบลูบคลำโจทก์ร่วมที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตอบโจทก์ถามค้านว่าจำเลยที่ 1 ได้ลูบคลำหน้าอกและอวัยวะเพศโจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 หอมแก้ม จับเนื้อต้องตัว และจับหน้าอกโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก็เป็นการกระทำอันไม่สมควรทางเพศต่อโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกมาจากบ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 โดยตรงก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยอมมาหาที่บ้านแล้วกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อเนื้อตัวร่างกายโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ยังอยู่ในความดูแลของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะแยกโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาโดยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลยที่ 1 และจำยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารต่อโจทก์ร่วมที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันเป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 1 โดยมีเจตนาพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ฟังขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกับการที่โจทก์ร่วมที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านอย่างไร มีการแบ่งหน้าที่กันทำหรือร่วมกันกระทำความผิดอย่างไร ทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 นั้น โจทก์ร่วมที่ 1 นอนอยู่ในบ้านของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว แสดงว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกแยกออกจากอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดาอยู่แล้ว ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 หรือไม่นั้น จึงไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่จะต้องนำมาวินิจฉัยเพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 จริง ก็คงมีเพียงเจตนาข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 เท่านั้น ไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปเสียจากโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้เป็นมารดา พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก ได้ และในเมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรามา ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ ไม่ว่าศาลจะพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ได้ เพราะข้อหาความผิดนี้เป็นข้อที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 11 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 318 วรรคแรก และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่โทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบมาตรา 141 (5) ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 7 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 14 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 28 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 2 ปี ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) แล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ มีกำหนด 9 ปี 28 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 50,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ

 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่