คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2553

จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงิน 2 ฉบับ โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้มอสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้นบังคับต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมายอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง2 ฉบับ และสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน

 

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นและให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เอาจากที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 47781

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท และสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ละเมิดที่นางสาวสุชิมา บุตรจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 3,681,846 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 47781 ให้โจทก์ยึดถือเป็นประกัน วันที่ 2 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 และนางสาวสุชิมาชำระหนี้ให้โจทก์ 681,846 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องนางสาวสุชิมาและจำเลยที่ 1 ให้ใช้เงินส่วนที่เหลือ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ให้นางสาวสุชิมามาชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง หากนางสาวสุชิมาไม่ชำระให้จำเลยที่ 1 ชำระแทน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น นางสาวสุชิมาและจำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2545 แต่นางสาวสุชิมาและจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์คดีถึงที่สุด และเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2545 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน 2 ฉบับ ฉบับแรกจำนวนเงิน 500,000 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ฉบับที่สองจำนวนเงิน 200,000 บาท ครบกำหนดชำระวันที่ 1 ธันวาคม 2544 ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมผ่อนชำระเงินจำนวน 750,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 เดือนละ 20,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 มีนาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในงวดแรกจำเลยที่ 2 จึงขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 27 มีนาคม 2545 ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลชั้นต้นเรียกต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นโดยมิได้เป็นหนี้กันจริง เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในข้อเท็จจริงดังกล่าวฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท ขึ้นมาโดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมายอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวและสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้ให้ถูกต้อง"

พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท และสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น เป็นโมฆะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และยกฎีกาของจำเลยทั้งสองเสีย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่